สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4983/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4983/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 282 วรรคสาม, 317 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ม. 26 วรรคหนึ่ง (3) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ม. 26 วรรคหนึ่ง (5)

แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านของจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ชักชวน แต่ขณะอยู่กับจำเลยที่ร้านก็ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 บิดาตลอดเวลา การที่จำเลยรู้เห็นยินยอมให้ลูกค้าใช้ร้านจำเลยเป็นสถานที่ติดต่อพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ออกจากร้านไปทำการค้าประเวณีเพื่อสำเร็จความใคร่ที่อื่น โดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบจากค่าสุราอาหารที่ลูกค้าต้องสั่งเพิ่มพิเศษและลูกค้าต้องชำระค่าเสียเวลาให้แก่จำเลย ถือว่าจำเลยกระทำการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยจึงมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก ก็ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ครบถ้วนแล้ว เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 (เดิม) การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบก็คือการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีนั่นเอง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 35, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 11 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 26, 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 44, 148 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 282, 317 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 35

จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 44, 148 (เดิม) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม, 11 วรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) (3) (5), 78 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสาม (เดิม) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 30,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง ปรับ 30,000 บาท ฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี จำคุก 10 ปี ส่วนฐานเป็นธุระจัดหาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี ฐานทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก และฐานค้ามนุษย์ เป็นการกระทำโดยมีการกระทำความผิดดังกล่าวประกอบอยู่ด้วยกันโดยมีเจตนาเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ฐานเป็นธุระจัดหาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี และปรับ 200,000 บาท และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร 2 กระทง กระทงละ 8 ปี เป็นจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เฉพาะฐานดังกล่าวกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 15,000 บาท รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 36 ปี และปรับ 245,000 บาท กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 29/1, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 68,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 78 ยกฟ้องความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง ฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี และฐานเป็นธุระจัดหาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี คงจำคุก 12 ปี 16 เดือน และปรับ 153,333.33 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับ 15,000 บาท ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้ว รวมจำคุก 12 ปี 16 เดือน และปรับ 168,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร และมีความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีมาทำงานเป็นลูกจ้างพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารของจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ชักชวนให้มาทำงานตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ร้านก็ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 บิดาตลอดเวลา ดังนั้น การที่จำเลยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีค้าประเวณีโดยเป็นธุระจัดหา ชักพาไปเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกระทำการค้าประเวณี ด้วยการยอมรับการกระทำชำเราเพื่อสินจ้างโดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ด้วย การที่ในวันเกิดเหตุจำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ลูกจ้างพนักงานเสิร์ฟไปนั่งหน้าร้านคอยต้อนรับลูกค้า เมื่อนาย ร. และนาย อ. ลูกค้ามาที่ร้านจำเลยเพื่อดื่มสุราและรับประทานอาหาร จำเลยก็ให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คอยนั่งให้บริการแก่ลูกค้าที่โต๊ะอาหาร ถือว่าเป็นความผิดฐานยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) และเป็นความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ซึ่งมีโทษอยู่ในมาตราเดียวกันคือมาตรา 78 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จากนั้นจำเลยรู้เห็นยินยอมให้ลูกค้าใช้ร้านจำเลยเป็นสถานที่ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้ลูกค้าพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ออกจากร้านไปทำการค้าประเวณีเพื่อสำเร็จความใคร่ที่อื่น โดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบจากการที่ลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านในค่าสุราอาหารที่ลูกค้าต้องสั่งเพิ่มพิเศษและลูกค้าต้องชำระค่าเสียเวลาให้แก่จำเลยอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ถือว่าจำเลยกระทำการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ด้วย การที่จำเลยรู้เห็นยินยอมให้ลูกค้าพรากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 บิดาเพื่อการอนาจารเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปทำการค้าประเวณี จำเลยจึงมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารตามฟ้องแล้ว และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.4 และ 1.5 ในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ในความผิดฐานพรากเด็กในทำนองว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยการที่จำเลยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีค้าประเวณีและจำเลยรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกระทำการค้าประเวณีซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กตามที่กล่าวมาแล้ว โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าในการพรากเด็กจำเลยชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาทำงานที่ร้านจำเลย ดังนั้นกรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาทำงานที่ร้านจำเลยหรือไม่อย่างที่โจทก์ฎีกา นอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 อีกด้วย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในข้อ 1.7 ในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็กก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เนื่องจากตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 (เดิม) การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบก็คือการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีนั่นเอง ศาลจึงสามารถลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 12 ปี นอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) อีกด้วย ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ในความผิดฐานพรากเด็ก ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกส่วนหนึ่งที่ลงโทษจำเลยจำคุก 12 ปี 16 เดือน และปรับ 168,333.33 บาท แล้ว คงลงโทษจำเลยจำคุก 20 ปี 16 เดือน และปรับ 168,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา คม.2/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู จำเลย - นางสาว ห.

ชื่อองค์คณะ พีรศักดิ์ ไวกาสี วยุรี วัฒนวรลักษณ์ ธนิต รัตนะผล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู - นายพิทักษ์ แสงสายัณห์ ศาลอุทธรณ์ - นายสอนชัย สิราริยกุล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE