คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038 - 5043/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 265, 268
ผู้เสียหายที่ 1 ต้องใช้คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูที่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานในการรับมอบเงินมัดจำจากจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ในการเรียกให้จำเลยมอบเงินมัดจำ จึงเป็นเอกสารสิทธิ
คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งหกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งหกสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268, 352 ให้จำเลยคืนเงิน 35,000 บาท (ที่ถูก 32,000 บาท) ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และนับโทษจำเลยต่อกันทั้งหกสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 352 วรรคแรก ฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง และความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกับฐานยักยอกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานยักยอกซึ่งเป็นกรรมเดียวกัน 1 กระทง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมที่มิได้เป็นกรรมเดียวกับฐานยักยอก จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 5,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อกันทั้งหกสำนวนนั้น ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งหกสำนวนเป็นคดีเดียวกันและพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นรายกระทงแล้วจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 36 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานยักยอกและยกคำขอให้คืนเงิน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานยักยอก 5 สำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวที่เหลืออีก 1 สำนวนเสียด้วย โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา คดีในความผิดฐานยักยอกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งหกสำนวน ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธินั้นเองโดยให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกสำนวน เป็นความผิดรวม 6 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้โดยให้ลดโทษจำคุกลงเหลือกระทงละ 6 เดือน จึงเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยว่า ผู้เสียหายที่ 3 ไม่มีหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อในใบสัญญาจองรถยนต์ซึ่งโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทำปลอมขึ้น ดังนั้นแม้มีการปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 3 การกระทำก็ไม่เป็นความผิดก็ดี คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพู ไม่จำเป็นต้องมีลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เพราะไม่ทำให้ลูกค้าเสียสิทธิในการจองซื้อรถยนต์ก็ดี จำเลยไม่มีเจตนาปลอมเอกสารเพียงแค่ทำเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการยักยอกเงินมัดจำก็ดี และกระบวนการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อซึ่งพนักงานสอบสวนมิได้ให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อตัวอย่างต่อหน้าพนักงานสอบสวนทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในส่วนนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพู รวม 6 ฉบับ มิใช่เป็นต้นฉบับเอกสารจึงก่อให้เกิดการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้หรือไม่ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการจองซื้อรถยนต์ของบริษัทสยามนิสสัน สุโขทัย จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 นั้น ลูกค้าจะทำใบสัญญาจองรถยนต์กับจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขายของผู้เสียหายที่ 1 โดยใบสัญญาจองรถยนต์ดังกล่าวมีด้วยกัน 3 ฉบับ ฉบับสีขาวเป็นต้นฉบับมอบให้แก่ลูกค้าไว้เป็นหลักฐาน ฉบับสีชมพูเป็นคู่ฉบับ อีกฉบับหนึ่งเป็นคู่ฉบับสีน้ำตาลเก็บไว้ในเล่มเป็นหลักฐาน ลูกค้ามีหน้าที่ต้องชำระเงินมัดจำโดยจะระบุไว้ในใบสัญญาจองรถยนต์ดังกล่าว เมื่อจำเลยรับเงินมัดจำจากลูกค้าแล้วจะต้องนำเงินพร้อมคู่ฉบับสีชมพูมอบให้แก่นางสาวสรวงสุดา ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน เพื่อลงลายมือชื่อรับรองว่าได้รับเงินไว้ถูกต้องแล้ว จากนั้นจะมอบคู่ฉบับสีชมพูให้นางสาวอังคณา ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของผู้เสียหายที่ 1 ตรวจสอบความถูกต้องและลงลายมือชื่อกำกับจำนวนเงินมัดจำที่รับไว้เสียก่อน แล้วค่อยส่งเอกสารดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 เพื่อให้จำเลยนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการทำเรื่องเสนอนายวสิษฐ์ให้มีคำสั่งอนุมัติส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้า เห็นว่า ตามทางปฏิบัติทั่วไปนั้น ข้อความในใบสัญญาจองรถยนต์ส่วนที่เป็นคู่ฉบับสีชมพูมีที่มาจากการเขียนข้อความผ่านกระดาษคาร์บอนจากส่วนที่เป็นต้นฉบับฉบับสีขาว รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่จองซื้อ ราคา จำนวนเงินมัดจำที่ชำระแล้ว กับส่วนที่เป็นของแถมและอุปกรณ์เพิ่มเติมซึ่งจะถูกต้องตรงกัน จำเลยต้องส่งมอบคู่ฉบับฉบับสีชมพูให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 พร้อมด้วยเงินมัดจำซึ่งจำเลยรับไว้จากลูกค้า ผู้เสียหายที่ 3 ทำการตรวจสอบจำนวนเงินที่รับมาว่าถูกต้องตรงกันเสียก่อน แล้วผู้เสียหายที่ 3 จึงลงลายมือชื่อไว้ในช่องพยานของเอกสารดังกล่าวโดยตรงด้วยปากกา เป็นการรับรองว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับเงินจากลูกค้าไว้ถูกต้องแล้ว จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ก็จะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งด้วยการลงลายมือชื่อกำกับไว้ในช่องจำนวนเงินมัดจำก่อนคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 3 เพื่อให้จำเลยนำไปใช้ดำเนินการขออนุมัติส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าต่อไป ด้วยเหตุนี้ คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูที่ผ่านการตรวจสอบของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวจึงถือเสมือนเป็นต้นฉบับเอกสารในส่วนที่ผู้เสียหายที่ 1 ยึดถือไว้ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประกอบการทำเรื่องขออนุมัติส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าในขั้นตอนถัดไป เมื่อจำเลยรับเงินมัดจำจากลูกค้าแล้ว แต่มิได้เสนอคู่ฉบับเอกสารฉบับสีชมพูต่อผู้เสียหายที่ 3 กลับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เพื่อให้ปรากฏเป็นหลักฐานต่อผู้เสียหายที่ 1 ว่า ได้รับเงินมัดจำไว้จากลูกค้าโดยตรวจสอบถูกต้องแล้ว และจำเลยเบียดบังเงินดังกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้นายวสิษฐ์อนุมัติการส่งมอบรถยนต์ไปโดยผิดหลง แม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ลูกค้าต้องเสื่อมสิทธิตามใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีขาวที่มีอยู่ แต่การที่นายวสิษฐ์อนุมัติให้ส่งมอบรถยนต์โดยที่ผู้เสียหายที่ 1 ยังมิได้รับเงินมัดจำตามใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพู ย่อมเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับความเสียหาย ทั้งยังทำให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับความเสียหายด้วย เพราะย่อมถูกเข้าใจว่าได้ตรวจสอบเรื่องการรับเงินมัดจำของจำเลยจากลูกค้าว่า จำเลยได้นำเงินมัดจำส่งมอบแก่ผู้เสียหายที่ 3 ไปโดยถูกต้องแล้ว พฤติการณ์ปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ของจำเลยดังกล่าว จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และนอกจากผู้เสียหายที่ 1 ต้องใช้คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูเป็นหลักฐานในการส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าแล้ว ผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้เอกสารดังกล่าวที่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานในการรับมอบเงินมัดจำจากจำเลยด้วย จึงถือได้ว่าคู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ในการเรียกให้จำเลยมอบเงินมัดจำจึงเป็นเอกสารสิทธิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมรวม 6 กระทง มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1053-1058/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย จำเลย - นางสาว พ.
ชื่อองค์คณะ ธนสิทธิ์ นิลกำแหง สิทธิชัย โชคสวัสดิ์ไพศาล สนธิศาสตร์ เจตน์วราพงศ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุโขทัย - นางอนิสรา จารุอรอุไร ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายณรงค์ศักดิ์ อัจฉรานุวัฒน์