สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1650

หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายนั้น จำต้องชดใช้จากสินทรัพย์แห่งกองมรดก เนื่องด้วยเป็นการดำเนินการตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1650

ส่วนเงินฌาปนกิจศพของผู้ตายที่โจทก์ได้รับจากกองทุนหมู่บ้านนั้น ถือเป็นเงินจัดการทำศพผู้ตาย แม้จะเป็นเงินที่ได้มาตามสิทธิภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว หาใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายไม่เป็นสินทรัพย์แห่งกองมรดกก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาระเบียบประกอบรายการโอนเงินที่ระบุว่าเป็นเงินฌาปนกิจศพสงเคราะห์บ้าง สงเคราะห์ศพบ้าง ส่งเงินศพบ้าง แสดงว่าหมู่บ้านต่าง ๆ มีเจตนามอบเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือจัดการงานศพสมาชิกตามประเพณีเพื่อลดภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายจัดการศพอันเป็นการสงเคราะห์ศพ จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักกับค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการจัดการศพผู้ตายก่อนตามเจตนาที่กองทุนหมู่บ้านมอบให้ หากมีค่าใช้จ่ายเหลือเท่าใดจึงเป็นหนี้กองมรดก

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนโจทก์ 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมปองชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2564) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ ให้จำเลยรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสมปองที่ตกทอดได้แก่ตน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า นายสมปอง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 โดยมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ จำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากที่สุด จึงมีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพผู้ตาย จำเลยเป็นนักศึกษายังไม่มีรายได้ จึงมอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นผู้จัดการทำศพผู้ตายแทนตน โจทก์ดำเนินการจัดการศพผู้ตายโดยเสียค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 180,000 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ได้รับเงินฌาปนกิจศพสงเคราะห์ของผู้ตายจำนวน 163,518 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตาย จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายนั้น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่า ให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เพียงจำนวน 100,000 บาท ตามสถานภาพของจำเลย และฐานานุรูปของผู้ตาย โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้นำมาหักกลบกับเงินฌาปณกิจศพสงเคราะห์ของผู้ตาย ซึ่งคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของผู้ตายมาแล้วก็ตาม จำเลยก็หายกมาเป็นข้อปัดป้องความรับผิดของจำเลยได้ไม่ ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของผู้ตายเป็นเงินจัดการทำศพ โจทก์จึงต้องนำมาใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตาย เมื่อนำมาหักกลบกันแล้วจึงไม่มีหนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์อีก เห็นว่า หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพนั้นจำต้องชดใช้จากสินทรัพย์แห่งกองมรดก เนื่องด้วยเป็นการดำเนินการตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1650

ส่วนเงินฌาปณกิจศพของผู้ตายที่โจทก์ได้รับจากกองทุนหมู่บ้านนั้น โจทก์ฎีกาว่า เป็นเงินกองทุนที่หมู่บ้านจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเสมือนเป็นเงินฝากสงเคราะห์ และเงินกองทุนดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ชำระเงินฝากค่ากองทุนในทุกครั้งและมีชื่อโจทก์ระบุเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกองทุน การที่กองทุนหมู่บ้านจ่ายเงินผลประโยชน์ในกองทุนคืนให้แก่โจทก์ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในการรับผลประโยชน์นั้นก็ชอบแล้วเสมือนกับโจทก์เป็นผู้ทำประกันชีวิตและชำระเบี้ยประกันแก่นายสมปองและนายสมปองระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังว่า เป็นเงินจัดการทำศพผู้ตาย ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย แม้เงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาตามสิทธิภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว หาใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายไม่เป็นสินทรัพย์แห่งกองมรดกก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายถาวร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 และประธานฌาปนกิจหมู่ 14 ที่ว่า นายสมปอง เป็นสมาชิกในฌาปนกิจมีโจทก์เป็นผู้ชำระเงินและมีสิทธิรับผลประโยชน์หากนายสมปองเสียชีวิต เมื่อนายสมปองเสียชีวิตทางฌาปณกิจจึงจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่โจทก์ตามระเบียบที่ระบุว่าเป็นเงินฌาปณกิจศพสงเคราะห์บ้าง สงเคราะห์ศพบ้าง ส่งเงินศพบ้าง น่าเชื่อว่าหมู่บ้านต่าง ๆ มีเจตนามอบเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือจัดการงานศพสมาชิกตามประเพณีเพื่อลดภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายจัดการศพอันเป็นการสงเคราะห์ศพ จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักกับค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการจัดการศพก่อนตามเจตนาที่กองทุนหมู่บ้านมอบให้ ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเหลือเท่าใดจึงเป็นหนี้กองมรดก เมื่อปรากฏว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการศพศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 100,000 บาท น้อยกว่าเงินที่โจทก์ได้รับเพื่อช่วยเหลือในงานศพ เท่ากับโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ไม่มีหนี้กองมรดกที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.275/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ป. จำเลย - นางสาว ฐ. ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาย ส.

ชื่อองค์คณะ ธีระพงศ์ จิระภาค ทรงพล สงวนพงศ์ กมล คำเพ็ญ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงอุบลราชธานี - นางสาวพสุกานต์ พรหมสาส์น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายวีระพล บุญอารีย์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th