สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383

ตามคำขอใช้สิทธิ์และเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาลมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินที่ได้รับไปส่งคืนให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์แจ้งเท่านั้น มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่อย่างใด การตกลงในเรื่องดอกเบี้ยไว้เช่นนี้ แม้จะชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลจึงมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงได้เป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันแล้ว การกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นนั้น ถือว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วน ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการที่จำเลยเข้าไปทำสัญญาเช่าซื้อและขอรับเงินคืนจากโจทก์นั้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น ที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ให้สามารถขายรถยนต์ได้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงยานพาหนะซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อนละ 10 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องมานั้น นับว่าเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีและชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 108,981 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 72,902 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 108,981 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 72,902 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 สิงหาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 จำเลยเข้าร่วมโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาล และได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฆส 4495 กรุงเทพมหานคร กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ในราคาเช่าซื้อ 576,303 บาท ตกลงผ่อนชำระ 84 งวด งวดละ 7,341 บาท ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2555 จำเลยยื่นคำขอใช้สิทธิรับเงินคืนตามโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกต่อโจทก์ ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สมุทรสาคร โจทก์อนุมัติให้จำเลยได้รับเงินคืน 72,902 บาท จำเลยได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ภายหลังทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกันก่อนครบระยะเวลา 5 ปี ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและยึดรถที่เช่าซื้อนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 273,920 บาท และมีผลขาดทุนจากการประมูลขาย ไม่มีเงินเหลือเพื่อชำระคืน สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สมุทรสาครมีหนังสือลงวันที่ 16 เมษายน 2558 เรื่อง ให้ส่งคืนเงินที่ได้รับตามเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่ตามมาตรการรถยนต์คันแรกไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแจ้งแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 แต่จำเลยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 10 ต่อปี มานั้น ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามคำขอใช้สิทธิ์ฯ และเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล มีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินที่ได้รับไปส่งคืนให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์แจ้งเท่านั้น มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแต่อย่างใด การตกลงในเรื่องดอกเบี้ยไว้เช่นนี้ แม้จะชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ศาลจึงมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงได้เป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันแล้ว การกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นนั้น ถือว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วน ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การที่จำเลยเข้าไปทำสัญญาเช่าซื้อและขอรับเงินคืนจากโจทก์นั้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ให้สามารถขายรถยนต์ได้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงยานพาหนะซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องมานั้น นับว่าเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีและชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.29/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - กรมสรรพสามิต จำเลย - นางสาว ว.

ชื่อองค์คณะ ประสิทธิ์ สนามชวด สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ พนมวรรณ ทองวิทูโกมาลย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงลพบุรี - นายภูมินทร์ เมธาจิตติพันธ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางสุวิมล ทัสสโร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE