สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 324 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/42 (3) (ข)

ในการพื้นฟูกิจการนั้น จำนวนหนี้และวิธีการชำระหนี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้ทำแผนต้องระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น และผู้บริหารแผน ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ หากแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร กรณีจึงต้องปฏิบัติตามวิธีการชำระหนี้ที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. การที่ผู้บริหารแผนออกประกาศกำหนดวิธีการชำระหนี้ในภายหลัง ด้วยวิธีการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน และไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. โดยที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ยินยอม จึงเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้

แม้หนี้ที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องทั้งสองจะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ก็จะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2559 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผน

ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5646 และ 5647 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างทั้งสามงวดเป็นเงิน 2,011,111.78 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และ 1,968,056.84 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ขอให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ลูกหนี้ในฐานะผู้บริหารแผนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ประเภทเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งการชำระหนี้กลุ่มนี้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝาก อีกส่วนเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินค่าหุ้น ตามแผนจะชำระคืนเมื่องบการเงินของลูกหนี้ไม่มีผลขาดทุนสะสม ผู้ร้องทั้งสองแจ้งว่าลูกหนี้แจ้งให้ผู้ร้องทั้งสองไปรับเงินโดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องทั้งสองนำสมุดเงินฝากเล่มเดิมที่ใช้เป็นหลักฐานมาเจาะรูเพื่อยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดิมแล้วเปิดบัญชีเล่มใหม่ตามยอดหนี้เพื่อชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องทั้งสองปฏิเสธที่จะทำลายสมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดิมและไม่ประสงค์คืนสมุดบัญชีเงินฝาก เป็นเหตุให้ลูกหนี้ไม่จ่ายเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 จำนวน 70,758.73 บาท ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และจำนวน 70,794.25 บาท ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลล้มละลายกลางและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ลูกหนี้และผู้ร้องทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษา หนี้ทุนเรือนหุ้น และเงินฝากออมทรัพย์ รวมเป็นเงิน 18,795,437.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 16,610,731.66 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จสิ้นจากลูกหนี้เต็มตามขอและอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษา หนี้ทุนเรือนหุ้น และเงินฝากออมทรัพย์ รวมเป็นเงิน 18,393,054.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 16,255,473.66 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จสิ้นจากลูกหนี้เต็มตามขอตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสอง (2) ซึ่งศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ลูกหนี้ชำระหนี้ให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 1,684,975.56 บาท และผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 1,646,923.58 บาท โดยแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของลูกหนี้ข้อแรกว่า การที่ผู้บริหารแผนออกประกาศกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้แก่ผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองต้องนำสมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดิมที่ใช้เป็นหลักฐานมาเจาะรูเพื่อยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดิมแล้วเปิดบัญชีเล่มใหม่ตามยอดหนี้เพื่อชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเสียก่อน เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น จำนวนหนี้และวิธีการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญที่ผู้ทำแผนต้องระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้บริหารแผนมีหน้าที่ปฏิบัติไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การที่แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บทที่ 5 หลักการและวิธีการในการฟื้นฟูกิจการ มีข้อกำหนดในการชำระหนี้ ตามข้อ 5.4.1.1 หลักการทั่วไปในการปรับโครงสร้างหนี้และการชำระหนี้ตามแผน ระบุว่า "เว้นแต่จะกำหนดไว้โดยชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นในแผนนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผนนี้มีหลักการและวิธีการดังต่อไปนี้ (1) หลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 5.4.1.4…" ซึ่งข้อ 5.4.1.4 ระบุว่า "เงื่อนไขในการชำระหนี้เงินต้นจัดสรร (1) ในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งถึงที่สุดในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งผู้ทำแผนได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ให้ผู้บริหารแผน/สหกรณ์ฯ ตั้งพักเงินจำนวนใด ๆ ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายนั้นไว้ในบัญชีสำรองเพื่อการชำระหนี้และเมื่อมีคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายนั้นแล้ว ให้ผู้บริหารแผน/สหกรณ์ฯ นำเงินที่ถูกตั้งพักในบัญชีเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้สำหรับรายดังกล่าวชำระหนี้ภายใน 30 วันทำการนับแต่วันที่ผู้บริหารแผน/สหกรณ์ฯ ได้รับคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้…" โดยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้กำหนดวิธีการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ว่าต้องดำเนินการอย่างไร จึงต้องปฏิบัติตามตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่แผนกำหนดไว้ในข้อ 5.4.1.5 เรื่อง สิทธิของเจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้เงินต้นจัดสรรในบัญชีออมทรัพย์ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งกำหนดว่า เจ้าหนี้ทุกกลุ่มยกเว้นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 9 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 อาจมีหนังสือแจ้งความจำนงขอใช้สิทธิรับชำระหนี้เงินต้นจัดสรรโดยวิธีการฝากเงินต้นจัดสรรที่สหกรณ์ฯ ชำระดังกล่าวไว้กับสหกรณ์ฯและได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน ถัวเฉลี่ยของธนาคาร… ข้อกำหนดส่วนนี้ก็เป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะเลือกเท่านั้น หากเจ้าหนี้ไม่เลือกตามข้อนี้แล้วผู้บริหารแผนก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 324 การที่ผู้บริหารแผนออกประกาศ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ข้อ 2.2 กำหนดว่า สหกรณ์ฯ จะทำการโอนปิดบัญชีเงินฝากเดิม และยกเลิกการใช้งานทุกเล่ม (สีเขียว สีฟ้า และสีม่วง) และเปิดบัญชีเจ้าหนี้ตามแผนฯ ด้วยยอดหนี้สุทธิในข้อ 2.1 เป็นยอดยกมาบันทึกลงในสมุดยอดหนี้เพื่อการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ (เล่มสีส้ม) ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4,5,7 และ 8 ซึ่งจะส่งมอบให้ในวันที่สมาชิกเจ้าหนี้เข้าไปรับเงินสดหรือสามารถขอรับได้ภายหลังกรณีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร อันเป็นวิธีการที่มิได้กำหนดไว้ในแผน และไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยินยอม จึงเป็นการออกประกาศให้เจ้าหนี้คืนสมุดบัญชีเดิมแล้วออกสมุดบัญชีใหม่ในยอดเงินตามแผน โดยขัดต่อแผนฟื้นฟูกิจการ กระทบกระเทือนและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ ฎีกาของลูกหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิได้รับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น ที่ลูกหนี้อ้างว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองไปแล้วก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็เป็นข้อที่ลูกหนี้จะต้องนำไปโต้แย้งคัดค้านในชั้นสอบสวนและพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้และศาลมีคำสั่งถึงที่สุดว่าให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างดังกล่าวมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นขอให้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้อีก ฎีกาข้อนี้ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้ แต่การที่ผู้ร้องทั้งสองจะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใดจะต้องเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 และข้อ 5.4.1.3 ช) ในแผนระบุว่า หนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ประเภทที่ 1 มูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝาก… ข้อ 2 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน สหกรณ์ฯ จะชำระภาระหนี้เงินต้นจัดสรรให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝากคิดเป็นอัตราร้อยละ 100 ของจำนวนเงินต้นที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ จะชำระเงินต้นจัดสรรให้เสร็จสิ้นภายใน 26 ปี นับแต่ปีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยแต่ละปีสหกรณ์ฯ จะชำระเงินต้นจัดสรรตามอัตราที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้าย 5 และแบ่งชำระจำนวนเท่ากันทุกครึ่งปีของแต่ละปี… ซึ่งในเอกสารแนบท้าย 2 รายชื่อเจ้าหนี้ จำนวนภาระหนี้จัดสรร และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ ระบุให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้ในยอดเงินต้นจากบัญชีออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ตามข้อ 5.4.1.3 ช) ข้อ 2 สำหรับผู้ร้องที่ 1 เงินต้นรวม 2 บัญชีเป็นเงินรวม 16,408,731.66 บาท และผู้ร้องที่ 2 เงินต้นรวม 2 บัญชีเป็นเงินรวม 16,053,437.66 บาท ตามที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในต้นเงินดังกล่าวในอัตราตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้าย 5 ซึ่งเมื่อคำนวนจากยอดเงินต้นตามอัตราที่กำหนดแล้วในสามงวดแรก ลูกหนี้ต้องจัดสรรคืนต้นเงินฝากให้ผู้ร้องทั้งสองในอัตราร้อยละ 10.7 คิดเป็นเงิน 1,755,734.29 บาท สำหรับผู้ร้องที่ 1 และเป็นเงิน 1,717,717.83 บาท สำหรับผู้ร้องที่ 2 ดังนั้น เมื่อในระหว่างพิจารณาลูกหนี้มอบเช็คเพื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้วเป็นเงินจำนวน 1,684,975.56 บาท สำหรับผู้ร้องที่ 1 และจำนวน 1,646,923.58 บาท สำหรับผู้ร้องที่ 2 เงินที่ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิได้รับจึงคงขาดอยู่ 70,758.73 บาท และ 70,794.25 บาท ตามลำดับ ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย สำหรับดอกเบี้ยและค่าทนายความตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง และหนี้ค่าหุ้นนั้น แม้คำสั่งถึงที่สุดในคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จะอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้ก็ตาม แต่เมื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการ ข้อ 5.4.1.3 ช) หนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ข้อ 3 ระบุว่า เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามแผน และข้อ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝากตกลงปลดภาระหนี้ดอกเบี้ยคงค้าง ดอกเบี้ยระหว่างกาลตลอดจนค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นใด ที่เกิดตามสัญญาและ/หรือตามกฎหมายจะได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนทันทีที่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝากครบถ้วนตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว โดยให้ถือว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินฝากได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น เช่นนี้ เมื่อแผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยและให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ตกลงปลดภาระหนี้ดอกเบี้ยคงค้าง ดอกเบี้ยระหว่างกาลตลอดจนค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นใด ที่เกิดตามสัญญาและ/หรือตามกฎหมายแก่ลูกหนี้ ผู้ร้องทั้งสองซึ่งถูกจัดอยู่ในเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 จึงไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยและค่าทนายความตามคำพิพากษาของศาลแพ่งแก่ผู้ร้องทั้งสองได้ ส่วนมูลหนี้ค่าหุ้น เมื่อแผน ข้อ 5.4.1.3 ช) ประเภทที่ 2 มูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินค่าหุ้น ระบุว่า 1 เงินต้นในส่วนที่เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาประเภทเงินค่าหุ้นที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 ได้ยื่นขอรับชำระหนี้เสมือนหนึ่งเป็นเงินค่าหุ้นของสมาชิกที่ยังไม่ได้ฟ้องคดี โดยวิธีการคืนเงินค่าหุ้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในบทที่ 6 ของแผนนี้ ซึ่ง บทที่ 6 หุ้นทุนของสหกรณ์ ข้อ 6.1 (1) ระบุว่า "หุ้นทุนเดิม คือหุ้นทุนที่สมาชิกมีอยู่ก่อนหรือ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามที่ปรากฏในงบการเงินของสหกรณ์ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2558 โดยสมาชิกหุ้นทุนเดิมจะถูกจำกัดสิทธิในการได้รับเงินค่าหุ้น ในส่วนของหุ้นทุนเดิมคืน จนกว่าจะปรากฏว่างบการเงินของสหกรณ์จะไม่มีการขาดทุนสะสมอีกต่อไป" กรณีจึงแสดงว่าแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้เงินค่าหุ้นหรือสมาชิกหุ้นทุนเดิมทุกรายจะได้รับเงินค่าหุ้นคืนเมื่อสหกรณ์ลูกหนี้ไม่มีการขาดทุนสะสมอีกต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่างบการเงินของลูกหนี้ไม่มีการขาดทุนสะสมอีกต่อไปแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงยังคงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนนี้ในขณะนี้ หาใช่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินค่าหุ้นเสียทีเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 70,758.73 บาท ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 70,794.25 บาท นั้นชอบแล้ว ฎีกาของลูกหนี้และผู้ร้องทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ลฟ.5/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ ลูกหนี้ผู้ร้องขอ - สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ค. ผู้ร้อง - นาย ส. กับพวก

ชื่อองค์คณะ พิสุทธิ์ ศรีขจร ปิยกุล บุญเพิ่ม ทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลล้มละลายกลาง - นางเสาวลักษณ์ จุลมนต์

  • นางสิริพร เปรมาสวัสดิ์ สุรมณี
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE