คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193, 1375 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
จำเลยยกที่ดินมือเปล่าให้โจทก์เป็นการชำระหนี้แต่ยังคงปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเป็นส่วนสัด ต่อมามีกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของตนดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินส่วนนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง
กำหนดเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง ไม่ใช่อายุความแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1เป็นบิดาจำเลยที่ 2 ที่ดินตามฟ้องเดิมเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ปลูกเรือนอยู่อาศัยในที่ดินตลอดมา เมื่อประมาณ 10 ปีเศษก่อนฟ้องโจทก์เข้าปลูกเรือนอยู่อาศัย ที่ดินและเรือนโจทก์จำเลยที่ 1 ปรากฏตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย ล.1 (เอกสารอยู่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 143/2522 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ) ต่อมาปี พ.ศ. 2520โจทก์ขอออก น.ส.3 ก. ซึ่งทางราชการได้ออกให้ ตามเอกสารหมาย จ.1ปี พ.ศ. 2521 โจทก์กับจำเลยมีกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 143/2522 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนและสละการครอบครองที่ดินตามฟ้องให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้หรือไม่โจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือน 4 ปี พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป500 บาท โดยตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะใช้คืนในเดือน 12 ปีเดียวกันถ้าไม่มีเงินชำระจะยกที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ ครั้นถึงกำหนด จำเลยที่ 1ไม่มีเงินชำระ จึงบอกยกที่ดินให้โจทก์และให้โจทก์เข้าปลูกเรือนอยู่อาศัยโดยจำเลยที่ 1 จะไปปลูกเรือนอยู่ที่อื่น แต่แล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมออกไปและขออยู่ต่อไปจนกว่าจะหาที่ปลูกบ้านได้ ปี พ.ศ. 2506โจทก์เข้าปลูกเรือนและอยู่ตลอดมาจนทางราชการออก น.ส.3 ก. ให้คำของโจทก์ดังกล่าวมีนายชาลี จำปาเรือน นายหลิน แก้วพวง และนายหมาย แก้วพวง เบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ปลูกเรือนอยู่ในที่ดินเพราะโจทก์ขออาศัยและโจทก์เป็นลูกหลาน จำเลยที่ 1 ไม่เคยสละการครอบครองที่ดินให้โจทก์ เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินเพื่อออก น.ส. 3 ก.ครั้งแรก จำเลยทั้งสองคัดค้าน เจ้าพนักงานจึงไม่ได้ทำการรังวัดในวันนั้นต่อมาโจทก์จะนำเจ้าพนักงานไปรังวัดเมื่อใดอีกจำเลยทั้งสองไม่ทราบตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 143/2522 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่ดินเป็นเนื้อที่เพียง 2.50ตารางเมตร ส่วนบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกด้วยตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย ล.1 แต่จำเลยทั้งสองเบิกความเจือสมคำโจทก์ว่า เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว จำเลยที่ 1เคยยืมเงินโจทก์ 500 บาท ตกลงจะใช้คืนในเดือน 12 ในที่สุดไม่ได้ใช้เงินคืน ต่อมาได้ยกกระบือ 1 ตัวให้โจทก์เป็นการตีใช้หนี้ ศาลฎีกา เห็นว่าข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกหลานนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวโดยไม่มีรายละเอียดว่าโจทก์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีพยานอื่นสนับสนุน เมื่อพิจารณาถึงว่าโจทก์เข้าปลูกเรือนในที่ดินในระยะใกล้เคียงกับเวลาที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยกที่ดินให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1 ได้ปลูกเรือนอยู่อาศัยในที่ดินเป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.1 และอ้างว่าที่ดินเป็นของตน แม้เมื่อมีกรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2521ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 143/2522 จำเลยที่ 1 ก็ยังคงอ้างเช่นนั้น ประกอบกับตามคดีอาญาดังกล่าวโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินเป็นเนื้อที่เพียง 2.50 ตารางเมตร โดยไม่ได้กล่าวอ้างถึงที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 2 ปลูกเรือนอยู่อาศัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่ดินในส่วนที่ตนปลูกเรือนอยู่อาศัย และโจทก์ไม่ติดใจโต้แย้ง นับเพียงวันที่ 13 มิถุนายน 2521 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์กับจำเลยเคยมีกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินหนึ่งปี โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1 ปลูกเรือนอยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ทั้งกำหนดเวลาฟ้องดังกล่าวไม่ใช้อายุความ แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายสี จำปาเรือง จำเลย - นายหวัน ชินวงษ์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ อาจ ปัญญาดิลก สุไพศาล วิบุลศิลป์ ไพศาล สว่างเนตร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan