สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2541

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 21

การพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน นอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินของกรมที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบ การพิจารณาด้วย สำหรับราคาที่ดินซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด คดีนี้ โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีการซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาท ก็มีแต่คำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงไม่น่าเชื่อว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์จะมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาทและเมื่อพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดแล้ว ก็ได้ความว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่มา มีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ และอยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ประมาณ3 ถึง 4 กิโลเมตร จะออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องผ่านที่ดินของผ.บิดาโจทก์ไปออกถนนกรมชลประทานเลียบประตูน้ำพระอุดมไปทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 แต่ภายหลังการเวนคืนและสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 แล้ว แม้ที่ดินส่วนที่เหลือจะยังถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบอยู่ แต่ก็อยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 เพียง 100 เมตร เห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วที่ดิน ของโจทก์ส่วนที่เหลือย่อมมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือหลังจากเวนคืนแล้ว มีผู้มาขอซื้อในราคา 15,000,000 บาท แสดงว่าโจทก์ได้ประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าเสียประโยชน์ ส่วนที่โจทก์ขอให้กำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 1,000 บาท เท่ากับของ ส. นั้นก็ได้ความว่าที่ดินโจทก์ห่างที่ดิน ส. ประมาณ 1 กิโลเมตรต่างก็เป็นที่นา แต่ที่ดิน ส.อยู่ติดถนนเกษตรอุดม มีไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง ที่ดินส่วนที่ติดถนนเกษตรอุดม จำเลยที่ 2จ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 3,000 บาท ที่ดินส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปจ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,000 บาท แต่ที่ดินโจทก์ถูกปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะไฟฟ้าและน้ำประปาก็เข้าไม่ถึง ดังนั้นสภาพความเจริญและที่ตั้งของที่ดิน ส. จึงดีกว่าที่ดินโจทก์ ไม่อาจกำหนดให้เท่ากันได้ และเนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก อันเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมิได้มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 400 บาทก็ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองประกาศในราชกิจจานุเบกษาเวนคืนที่ดินของโจทก์เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษโดยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดและไม่เป็นธรรม จึงขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินในราคาดังกล่าวรวมเป็นเงินจำนวน 18,330,000 บาทโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนแล้ว 1,466,400 บาท คงเหลือเงินค่าทดแทนเพิ่มที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระจำนวน 16,863,600 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,863,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 จนกว่าชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินถูกต้องเป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน2,199,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่20 ตุลาคม 2538 จนกว่าชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5865 เนื้อที่6 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 6207 เนื้อที่ 7 ไร่2 งาน 79 ตารางวา ตำบลคลองพระอุดม (บ้านแหลม)อำเภอลาดหลุมแก้ว (เมือง) จังหวัดปทุมธานี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครตอนบ้านคลองเปรมบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง)พ.ศ. 2535 ตามสำเนาเอกสารหมาย ล.1 ออกใช้บังคับ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5865 ถูกเวนคืน 6 ไร่ 2 งาน15 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ 1 งาน 17 ตารางวาที่ดินโฉนดเลขที่6207 ถูกเวนคืน 2 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่5 ไร่ 28 ตารางวา รวมที่ดินที่ถูกเวนคืน 9 ไร่ 66 ตารางวาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 1,466,400 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ไปแล้วโจทก์ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอค่าทดแทนเพิ่มเป็นตารางวาละ 5,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ให้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ในปัญหาดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนไปเพื่อสร้างคลังพัสดุหรือที่ทำการหมวดซ่อมบำรุงทางและมีรั้วล้อมรอบทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา อยู่ติดคลังพัสดุและถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบ ไม่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37ที่สร้างใหม่ราคาที่ดินส่วนที่เหลือมิได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 1,000 บาท เท่ากับค่าทดแทนของนายสมชัยและนางทวี สังข์เพชร นั้น เห็นว่าการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน นอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินของกรมที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบการพิจารณาด้วย เกี่ยวกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดโจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีการซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาท กันมีแต่คำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุน จึงไม่น่าเชื่อว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์จะมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาทและเมื่อพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดแล้ว ก็ได้ความว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่นา มีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ และอยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ประมาณ3 ถึง 4 กิโลเมตร จะออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องผ่านที่ดินของนายผูก งามสะอาด บิดาโจทก์ไปออกถนนกรมชลประทานเลียบประตูน้ำพระอุดมไปทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 แต่ภายหลังการเวนคืนและสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 แล้ว แม้ที่ดินส่วนที่เหลือจะยังถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบอยู่ แต่ก็อยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 เพียง 100 เมตร เช่นนี้จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือย่อมมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในข้อนี้ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของโจทก์ที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือหลังจากเวนคืนแล้วมีผู้มาขอซื้อในราคา15,000,000 บาท แสดงว่าโจทก์ได้ประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าเสียประโยชน์ ส่วนที่โจทก์ขอให้กำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 1,000 บาทเท่ากับของนายสมชัย และนางทวีนั้นก็ได้ความจากโจทก์และนายสมชัยพยานโจทก์ว่าที่ดินโจทก์ห่างที่ดินนายสมชัยประมาณ 1 กิโลเมตร ต่างก็เป็นที่นา แต่ที่ดินนายสมชัย อยู่ติดถนนเกษตรอุดม ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรีมีไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง ที่ดินส่วนที่ติดถนนเกษตรอุดม จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 3,000 บาทที่ดินส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปจ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,000 บาทแต่ที่ดินโจทก์ถูกปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ไฟฟ้าและน้ำประปาก็เข้าไม่ถึง ดังนั้นสภาพความเจริญและที่ตั้งของที่ดินนายสมชัยจึงดีกว่าที่ดินโจทก์ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินนายสมชัยย่อมสูงกว่าราคาค่าทดแทนที่ดินโจทก์ ไม่อาจกำหนดให้เท่ากันได้และเนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 37สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกอันเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมิได้มีการแสวงหากำไรอยู่รวมอยู่ด้วย ก็คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 400 บาท ก็ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง(5) เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ทอง สุข เชิด เชี่ยว จำเลย - กระทรวงคมนาคม กับพวก

ชื่อองค์คณะ ดุสิต เพชรปลูก อุดม มั่งมีดี ไพฑูรย์ แสงจันทร์เทศ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th