คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122 - 5123/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (1) ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 2, 4, 9 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ม. 122
เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิที่ดินมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 และแม้หากที่ดินพิพาทจะพ้นจากการเป็นที่ชายตลิ่งไปโดยสภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง แต่ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐ ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายใช้ยันรัฐได้ไม่ว่าในทางใด การฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อไม่ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จึงมีผลเท่ากับอ้างสิทธิครอบครองมายันรัฐซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดิน นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ซึ่งเป็นวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และที่ดินดังกล่าวไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสิบ กับให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการเพิกถอนการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและขับไล่โจทก์ทั้งสิบพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายสิ่งของออกจากที่ดินพิพาท หากโจทก์ทั้งสิบไม่รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไป ให้จำเลยทั้งสองหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจรื้อถอน และขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไป โดยให้โจทก์ทั้งสิบเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ขับไล่โจทก์ทั้งสิบพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ทั้งสิบรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของออกจากที่ดินพิพาทด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสิบ ห้ามโจทก์ทั้งสิบและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป กับให้โจทก์ทั้งสิบใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองสำนวนแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ สำนวนแรก 3,000 บาท สำนวนที่สอง 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสิบให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 10 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองสำนวนในศาลชั้นต้นกับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสิบต่างครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ครอบครองเนื้อที่ 1 งาน 5.6 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 71/1 โจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 2 งาน 34.1 ตารางวา พร้อมบ้านอยู่อาศัยและให้เช่าพักแรมเลขที่ 3/9 โจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 40.5 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 3/6 โจทก์ที่ 4 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 20.2 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 3/4 โจทก์ที่ 5 เนื้อที่ 3 งาน 22.4 ตารางวา พร้อมบ้านอยู่อาศัยและให้เช่าพักแรมเลขที่ 99/4 โจทก์ที่ 6 เนื้อที่ 2 งาน 5.9 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 154/4 โจทก์ที่ 7 เนื้อที่ 84.1 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 135/5 โจทก์ที่ 8 เนื้อที่ 2 งาน 78.3 ตารางวา โจทก์ที่ 9 เนื้อที่ 1 งาน 66.1 ตารางวา และโจทก์ที่ 10 เนื้อที่ 3 งาน 11.5 ตารางวา วันที่ 28 ตุลาคม 2559 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินว่า ด้วยจำเลยที่ 1 ได้รับการร้องเรียนกรณีมีการบุกรุกที่ดินริมตลิ่งแม่น้ำโขง โดยเอกชนหลายรายเข้าไปล้อมรั้วแสดงสิทธิครอบครอง และมีบางรายปลูกบ้านพักส่วนตัว ขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบและรังวัดที่ดินว่างเปล่าเพื่อเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงขอความอนุเคราะห์ประมาณค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ มีผู้คัดค้านประมาณ 20 ราย ครอบคลุมที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสิบครอบครองด้วย คดีสำหรับโจทก์ที่ 4 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีสำหรับโจทก์ที่ 3 ที่ 6 และที่ 10 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ตามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เป็นฝ่ายที่กล่าวอ้างว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 แต่ละคนต่างมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองที่ดินสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 บัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย" โดยประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 ธันวาคม 2497 หน้าที่ในการนำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างจึงตกแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา นายวงค์และนางเตี้ยง ได้ครอบครองและทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชไร่และกอไผ่ขาย นายวงค์และนางเตี้ยงมีบุตร 5 คน นายบุญศรี และนางบาง มารดาของนายบุญตัน ต่างเป็นบุตรของนายวงค์และนางเตี้ยง หลังจากนายวงค์และนางเตี้ยงตาย ทายาทตกลงมอบที่ดินให้แก่นายบุญศรี ต่อมานายบุญศรีแบ่งที่ดิน 1 งาน 5.6 ตารางวา ให้แก่นายบุญตันซึ่งเป็นหลาน วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2537 นายบุญตันขายที่ดินให้แก่นางโสภาพรรณ ในราคา 130,000 บาท วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 นางโสภาพรรณขายที่ดินให้แก่นางวันดี มารดาของโจทก์ที่ 1 ในราคา 500,000 บาท นางวันดีเข้าครอบครองที่ดินและปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71/1 และเมื่อต้นปี 2555 นางวันดีได้ยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 มีนายบุญตันซึ่งเกิดปี 2485 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานเห็นนายวงค์และนางเตี้ยงครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกพืชไร่และกอไผ่ขายตั้งแต่พยานจำความได้ พยานเคยไปช่วยนางเตี้ยงปลูกผักสวนครัวด้วยก็ตาม แต่นางเตี้ยงกลับมิได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ซึ่งหากนายวงค์และนางเตี้ยงได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 โดยชอบ เพียงแต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน กับมิใช่เป็นที่ดินที่มีการหวงห้ามมิให้ราษฎรเข้าถือครอง ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่นายวงค์และนางเตี้ยงจะต้องละเลยไม่ไปแจ้งการครอบครองที่ดินต่อทางราชการเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินของตนไว้ ทั้งนายบุญตันมิได้เบิกความอธิบายให้เหตุผลในเรื่องดังกล่าว ข้ออ้างการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 ว่าได้ครอบครองสืบต่อกันมาจากนายวงค์และนางเตี้ยงตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง คงรับฟังได้เพียงว่า นายบุญตันครอบครองและขายที่ดินพิพาทให้แก่นางโสภาพรรณเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2537 นางโสภาพรรณขายที่ดินต่อให้แก่นางวันดี มารดาของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 และนางวันดียกให้แก่โจทก์ที่ 1 ในปี 2555 เท่านั้น ล้วนแต่เป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้วทั้งสิ้น ส่วนโจทก์ที่ 2 นำสืบว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 นายธนชาตซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนจากนายสุรันดรในราคา 150,000 บาท วันที่ 31 มกราคม 2556 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินเนื้อที่ 1 งาน 53 ตารางวา จากนางจิรารัตน์ในราคา 700,000 บาท และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินเนื้อที่ 50 ตารางวา จากนายธนชาตในราคา 200,000 บาท โจทก์ที่ 5 นำสืบว่า โจทก์ที่ 5 ซื้อที่ดินมาจากนายสุรันดรและนางปราณี เมื่อปี 2544 จากนั้นโจทก์ที่ 5 สร้างบ้านอยู่อาศัย ประกอบกิจค้าขายและให้เช่าพักแรมในชื่อ "บ้านพัก ร." มาจนถึงปัจจุบัน และโจทก์ที่ 7 นำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2533 นางโสภาพรรณและนางสาวคะนึงนิจ ซื้อที่ดินมาจากนายปัญญา แล้วโจทก์ที่ 7 ซื้อที่ดินต่อจากนางโสภาพรรณและนางสาวคะนึงนิจ คงเป็นการนำสืบเพียงในช่วงที่แต่ละคนซื้อที่ดินมาและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของตนเท่านั้นและเป็นการซื้อที่ดินที่ไม่มีหลักฐานสำหรับที่ดินเพื่อการอ้างอิงถึงสิทธิครอบครองในที่ดิน ผู้ที่ขายที่ดินจะได้ที่ดินมาโดยชอบหรือไม่ อย่างไรและเมื่อใด ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในชุมชนเก่าที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมานานหลายร้อยปี แต่ที่ดินกลับไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเลยและมีเฉพาะในส่วนที่โจทก์ทั้งสิบครอบครองซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงเท่านั้นที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หาได้อยู่ในส่วนอื่นของชุมชนที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่ สำหรับโจทก์ที่ 9 นำสืบว่า โจทก์ที่ 9 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเมื่อปี 2540 ตกทอดมาจากบิดามารดา และบิดามารดาครอบครองสืบมาต่อจากตายาย โจทก์ที่ 9 ปลูกผักสวนครัวและไม้ยืนต้น แต่โจทก์ที่ 9 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ต้นไผ่ ต้นกล้วยและเถาวัลย์ตามภาพถ่ายเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและโจทก์ที่ 9 มิได้อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท พยานหลักฐานตามที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 แต่ละคนได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อจากผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและโดยไม่ขาดสายตั้งแต่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ หากแต่เป็นการเข้าครอบครองภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว ไม่มีกรณีที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 พึงได้รับความคุ้มครองว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 และแม้หากที่ดินพิพาทจะพ้นจากการเป็นที่ชายตลิ่งไปโดยสภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง ดังโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกา แต่ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐ ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายใช้ยันรัฐได้ไม่ว่าในทางใด การฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อไม่ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จึงมีผลเท่ากับอ้างสิทธิครอบครองมายันรัฐซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 มาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดิน นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.384-385/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ป. กับพวก จำเลย - เทศบาล ว. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ปรีชา เชิดชู ปุณณะ จงนิมิตรสถาพร ธวัชชัย รัตนเหลี่ยม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเทิง - นางสาวพูลศรี ประทุมมณี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางสาวปทุมาวดี พิชชาโชติ