คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 5 (1) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 6 (1), 8
จำเลยรับโอนเงินจาก ส. โดยรู้ว่าเป็นค่าเมทแอมเฟตามีนที่ ท. ขายให้ ส. แล้วจำเลยถอนเงินดังกล่าวไปจากบัญชีเงินฝากเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดของ ท. อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น และเป็นการรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1) แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยสมคบหรือตกลงกับ ท. หรือ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงฟังได้ว่าจำเลยสนับสนุนการกระทำความผิดของ ท. เท่านั้น ซึ่งการสนับสนุนนี้ไม่ถือเป็นการสมคบหรือตกลงกับ ท. เพื่อกระทำความผิด เพราะจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกับ ท. หรืออยู่ในฐานะอันเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรงกับ ท. เช่นเป็นผู้ตกลงซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ท. แต่อย่างใด กรณีของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, 8, 14 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 7, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายสิทธิเดชได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด ชนิดผงสีส้ม และชนิดเกล็ดสีขาวรวมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 42.014 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และสลิปการโอนเงิน 4 ใบ โดยมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน 1 ใบ เป็นของกลาง นายสิทธิเดชให้การว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ในราคา 65,000 บาท จากนายทศพล โดยนายทศพลให้นายสิทธิเดชโอนเงิน 9,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีและโอนเงิน 20,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวยุวดี นายสิทธิเดชจึงได้โอนเงินดังกล่าวผ่านตู้ฝากเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวังน้อย แล้วแจ้งการโอนให้นายทศพลทราบ จากนั้นนายทศพลนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ที่ริมถนนเลียบคลองหก จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้นายสิทธิเดชมารับไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยดำเนินคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยนำสืบรับว่า บัญชีเงินฝากที่นายสิทธิเดชโอนเงิน 9,000 บาทให้นั้น เป็นบัญชีเงินฝากของจำเลยและจำเลยได้ถอนเงินดังกล่าว 8,000 บาทออกจากบัญชีในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยไม่ทราบว่าเป็นเงินซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและไม่ทราบว่าใครโอนมา คงเข้าใจว่าเป็นเงินค่าแชร์นั้น ได้ความว่า เมื่อดูย้อนหลัง 6 เดือน ก่อนนายสิทธิเดชโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวของจำเลย ยอดเงินที่โอนหรือฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยส่วนมากจะเป็นหลักร้อยบาท และมีหลักพันบาทซึ่งไม่เกิน 4,000 บาท อยู่บ้างเป็นระยะ ๆ ส่วนที่เกิน 4,000 บาท มีเพียง 14 ครั้ง และส่วนใหญ่แต่ละครั้งห่างกันหลายวัน โดยครั้งล่าสุดห่างจากวันที่นายสิทธิเดชโอนเงินเข้าบัญชีนี้ของจำเลยถึง 21 วัน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเข้าใจว่าเงินที่นายสิทธิเดชโอนมานั้นเป็นเงินค่าแชร์ เพราะจำนวนเงินไม่เป็นไปตามปกติที่มีการฝากและโอนซึ่งเป็นหลักร้อยบาทและพันบาทต้น ๆ ทั้งจำเลยได้ใช้ระบบแจ้งเตือนการเข้าและออกของเงินในบัญชีไว้กับธนาคารผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงทราบในทันทีที่มีเงินดังกล่าวโอนเข้ามา การที่จำเลยรีบถอนเงินส่วนหนึ่ง จำนวน 8,000 บาท ออกจากบัญชีในวันรุ่งขึ้นแสดงว่าจำเลยน่าจะทราบถึงที่มาของเงินนั้นจึงมิได้ติดใจสงสัยหรือตรวจสอบที่มาก่อน โดยเฉพาะจำเลยรับว่าเคยคบหากับนายทศพลอย่างคนรักและไม่รู้จักนายสิทธิเดชจึงเชื่อว่านายทศพลเป็นผู้มอบหมายเลขบัญชีเงินฝากของจำเลยให้นายสิทธิเดชและแจ้งให้นายสิทธิเดชโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนส่วนหนึ่งให้จำเลย เพราะหากจำเลยไม่มีส่วนรับรู้ถึงการขายเมทแอมเฟตามีนของนายทศพลก็ไม่มีเหตุผลที่นายทศพลจะให้นายสิทธิเดชเป็นผู้โอนเงินให้จำเลยโดยตรง เพราะอาจทำให้จำเลยต้องมีส่วนพัวพันในการกระทำความผิดหรือรู้ถึงการกระทำความผิดของนายทศพลซึ่งปกติควรเก็บเป็นความลับเพื่อความปลอดภัยของตน ยิ่งกว่านั้นได้ความจากนายสิทธิเดชพยานจำเลยรับว่า ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสิทธิเดชที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลาง มีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยบันทึกไว้ด้วย โดยระบุชื่อว่า "เจ้โจ" ซึ่ง "โจ" คือชื่อเล่นของนายทศพล อันแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์เป็นคนรักหรือคนใกล้ชิดของนายทศพล ที่จำเลยอ้างว่าได้เลิกคบหากับนายทศพลมาเป็นปีแล้ว จึงรับฟังไม่ขึ้น นอกจากที่นายสิทธิเดชโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยแล้ว ยังปรากฏว่าในเวลาเดียวกันนายสิทธิเดชได้โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้นางสาวยุวดีอีก 20,000 บาท และปรากฏว่าระหว่างจำเลยกับนางสาวยุวดีก็มีการโอนเงินไปมาระหว่างกันเป็นระยะ ๆ ในช่วงก่อนเกิดเหตุคดีนี้อันส่อแสดงว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการรับโอนเงินจากการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของนายทศพล ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยให้นางสาวยุวดียืมเงินนั้น เป็นการอ้างลอย ๆ ขัดกับพฤติการณ์ที่กระทำระหว่างกัน รับฟังไม่ได้ คดียังได้ความอีกว่า ในการเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบอีก 29 รายการ มีทั้งสร้อยข้อมือ แหวน สร้อยคอ พระเลี่ยมกรอบซึ่งแม้ระบุว่าลักษณะคล้ายทองคำเพราะยังต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทองคำเพราะมีการเก็บมิดชิดในตู้เซฟเช่นเดียวกับการเก็บรักษาของมีราคาสูงทั่วไป ทั้งยังมีทรัพย์สินอื่นอีกได้แก่ กล้องถ่ายรูป 3 กล้อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อไอโฟน 2 เครื่อง รถยนต์ 1 คัน โดยเฉพาะมีเงินสดอีกรวม 379,000 บาท เก็บในบ้านด้วย ซึ่งล้วนเป็นของมีค่าราคาสูง ในขณะที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาชีพเป็นหลักแหล่งใด ๆ ที่สามารถซื้อหาทรัพย์สินดังกล่าวมาได้ ที่จำเลยอ้างว่าทำธุรกิจแชร์ออนไลน์และขายของออนไลน์ก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุน รับฟังไม่ได้ และที่อ้างว่าเงินสดดังกล่าวเป็นของบิดามารดาของจำเลย ก็ปรากฏว่าบิดามารดาของจำเลยประกอบอาชีพทำนาโดยเช่านาผู้อื่นทำ ที่อ้างว่าได้ค่าขายข้าวตามใบชั่งน้ำหนักและรับเงินค่าข้าวก็ปรากฏว่าในแต่ละรอบการขายข้าวซึ่งห่างกันหลายเดือนก็ได้เงินอย่างมากเพียง 100,000 บาทเศษ และที่อ้างว่าบิดามารดาของจำเลยมีอาชีพรับจ้างจัดสวนด้วย ก็ปรากฏว่าเป็นเพียงลักษณะตัดหญ้าตกแต่งต้นไม้เล็กน้อย ไม่ใช่กิจการใหญ่โตที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก การที่บิดามารดาของจำเลยจะเก็บเงินจำนวนมากถึง 300,000 บาทเศษ ไว้ที่บ้านโดยไม่นำฝากธนาคารทั้งนี้บิดามารดาของจำเลยก็มีบัญชีเงินฝากธนาคารจึงไม่มีเหตุควรรับฟัง การเก็บเงินไว้เช่นนี้จึงส่อไปในทางไม่สุจริตหรือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพฤติการณ์แห่งคดีดังวินิจฉัยมาประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยรับโอนเงินจากนายสิทธิเดชโดยรู้ว่าเป็นค่าเมทแอมเฟตามีนที่นายทศพลขายให้นายสิทธิเดช แล้วจำเลยถอนเงินดังกล่าวไปจากบัญชีเงินฝากเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดของนายทศพล อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น และเป็นการรับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา5 (1) ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยสมคบหรือตกลงกับนายทศพลหรือนายสิทธิเดชในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนคงฟังได้ว่าจำเลยสนับสนุนการกระทำความผิดของนายทศพลดังวินิจฉัยมาแล้วเท่านั้น ซึ่งการสนับสนุนนี้ไม่ถือเป็นการสมคบหรือตกลงกับนายทศพลเพื่อกระทำความผิด เพราะจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิด อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกับนายทศพลหรืออยู่ในฐานะอันเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรงกับนายทศพล เช่นเป็นผู้ตกลงซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายทศพลแต่อย่างใด กรณีของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสาม ฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสนับสนุนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1641/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลย - นางสาว น.
ชื่อองค์คณะ สาคร ตั้งวรรณวิบูลย์ อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา - นายณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง ศาลอุทธรณ์ - นายวิบูลย์ ศุภสกุลอาภาพิบูล