สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84/1

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่าหนี้เงินกู้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อใช้เป็นเงินทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันมีการชำระหนี้แล้ว และชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ ป. จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อตามที่ ป. สั่ง จึงมิได้กระทำการในนามตนเองและมิได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เงินที่กู้ยืมนำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ามีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จริงยิ่งกว่านั้นการที่ ป. ลงลายมือชื่อทั้งในช่องผู้กู้และช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ลงลายมือชื่อช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.7 และลงลายมือชื่ออนุมัติกรณีจำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงิน 25,500,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการโอนที่ดิน อีกทั้ง ป. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ จากบัญชีโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 แล้วมีการเบิกถอนเงินตามเช็คไปแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จริง กรณีนี้ไม่จำต้องอาศัยหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดงต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงมีรายการหนี้เงินกู้ของโจทก์ค้างอยู่ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 23,429,376.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 15,500,000 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 15,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 15,500,000 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2557 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มกราคม 2563) ต้องไม่เกิน 7,879,376.71 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 25 เมษายน 2556 มีนายปรีชาเป็นกรรมการผู้เดียวที่มีอำนาจลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในนามของจำเลยที่ 1 ส่วนนายปรีชาลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในนามของจำเลยที่ 1 และในช่องผู้ให้กู้ในนามของโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 4,500,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์เป็นเช็คธนาคาร น. สาขาย่อยสรงประภา จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้ เอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 1 และที่ 2 และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในนามของจำเลยที่ 1 และนายปรีชาลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้กู้ในนามของโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 25,500,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์ เป็นเช็คธนาคาร น. สาขาย่อยสรงประภา จำนวนเงิน 25,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้ เอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2555 นายปรีชาถึงแก่ความตาย มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้เงินกู้ 15,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" ดังนั้น แม้ตามใบรับเงินฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2554 เอกสารหมาย จ.6 และใบรับเงินฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เอกสารหมาย จ.7 จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ต้องมีการลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อพิจารณาจากเอกสารหมาย ล.6 (ที่ถูก จ.6) และ ล.7 (ที่ถูก จ.7) ว่าเป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลซึ่งได้กำหนดบุคคลผู้มีอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัท ปรากฏตามหนังสือรับรอง ระบุว่า ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2555 กรรมการผู้มีอำนาจคือ นายปรีชาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ตามเอกสารหมาย ล.6 (ที่ถูก จ.6) และ ล.7 (ที่ถูก จ.7) มีการลงลายมือชื่อของนายปรีชาโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการแทนนิติบุคคล เมื่อไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ เอกสารหมาย ล.6 (ที่ถูก จ.6) และ ล.7 (ที่ถูก จ.7) ย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ตามรูปเรื่องแห่งคดีนี้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันซึ่งสรุปใจความได้ว่า หนี้เงินกู้ตามฟ้องเป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อใช้เป็นเงินทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันได้มีการชำระหนี้แล้ว และชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 การตัดสินใจขึ้นอยู่กับนายปรีชา จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อตามที่นายปรีชาสั่งให้ดำเนินการ จึงมิได้เป็นการกระทำในนามของตนเองและมิได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เงินที่กู้ยืมนำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า มีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องจริง ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาตามเหตุผลของเรื่องแล้ว การที่นายปรีชาลงลายมือชื่อทั้งในช่องผู้กู้และช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ลงลายมือชื่อช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินและใบรับเงินกู้ เอกสารหมาย จ.7 และลงลายมือชื่ออนุมัติกรณีจำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงิน 25,500,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการโอนที่ดิน อีกทั้งนายปรีชาได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคาร น. สาขาย่อยสรงประภา จำนวนเงิน 4,500,000 บาท และ 25,500,000 บาท จากบัญชีของโจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วมีการเบิกถอนเงินตามเช็คไปแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จริง กรณีนี้ไม่จำต้องอาศัยหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดงต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงรายการในงบแสดงฐานะการเงินของโจทก์ ว่าเป็นเรื่องตัวเลขที่สรุปฐานะการเงินประจำปีของนิติบุคคลที่ยื่นต่อหน่วยราชการ ซึ่งจะเชื่อถือได้ว่าเป็นความจริงจะต้องมีพยานเอกสารอื่นมาแสดงประกอบด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ตามคำเบิกความพยานโจทก์ปากนางสาวเบญญาภาก็ไม่ได้ยืนยันว่า รายการให้กู้ยืม 31,398,073.53 บาท เป็นรายการหนี้ให้กู้ยืมแก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้แล้วโจทก์ยังมีใบเสร็จรับเงินเป็นพยานหลักฐานอันแสดงให้เห็นว่า ในปี 2556 ถึงปี 2557 จำเลยที่ 1 ยังผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้างในเรื่องนี้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่า ในปี 2562 และปี 2563 จำเลยที่ 1 ยังคงระบุรายการในแบบนำส่งงบการเงินของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เงินกู้ระยะยาวของโจทก์อยู่เป็นเงิน 15,550,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงมีรายการหนี้เงินกู้ของโจทก์ค้างอยู่ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง มาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วจริง ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดรับชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาในประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.612/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท บ. จำเลย - บริษัท ช. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ธีระพล ศรีอุดมขจร เผด็จ ชมพานิชย์ สิงห์ชัย ฤาชุตานันท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายสัมพันธ์ ผาสุข ศาลอุทธรณ์ - นายนเรศ กลิ่นสุคนธ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE