สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5157/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5157/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง

ที่ดินพิพาทเป็นทางเท้าซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถใช้สัญจรไปมาได้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ครอบครองใช้สอบในที่ดินพิพาทโดยเพียงแต่นำตู้กระจกที่ใส่สินค้าออกไปวางขายในช่วงเช้าแล้วนำเข้าเก็บเมื่อปิดร้านค้าครั้นปิดร้านค้าแล้วก็มิได้สงวนสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดคงปล่อยให้คนสัญจรไปมาดังเช่นทางเท้าทั่วไปดังนี้แม้โจทก์จะวางตู้กระจกขายสินค้ามาเป็นเวลาช้านานก็คงเป็นเพียงการถือวิสาสะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในบางเวลาเป็นการชั่วคราวเท่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของอันจะมีลักษณะเป็นการครอบครองอย่างปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382 โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์การที่โจทก์ฎีกาว่าป.ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ก่อสร้างตึกแถวยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วนั้นจึงเป็นการฎีกาในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 ซึ่งมีสภาพเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตรยาว 80 เมตร บุคคลทั่วไปใช้สัญจรไปมา และบางส่วนอยู่ใต้กันสาดหน้าตึกแถวของโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5788 พร้อมตึกแถวเลขที่ 922/14 ด้วยการซื้อมาเมื่อปี2504 แล้วเข้าครอบครองที่ดินพร้อมตึกแถวและทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถว ขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตรยาวประมาณ 4 เมตรรวมเนื้อที่ 1 ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3338โดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนถึงปัจจุบันเกิน10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ กลางปี 2535โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ส่วนที่เป็นทางเท้าดังกล่าวให้โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 เลขที่ดิน 235ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) จังหวัดพระนครขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร เนื้อที่ดิน 1 ตารางวาที่เป็นทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถวเลขที่ 922/14 ถนนเจริญกรุงแขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปลอดจากภาระจำนองหรือภาระติดพัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า สภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง)จังหวัดพระนคร ของจำเลยทั้งสอง เป็นทางเข้าออกสำหรับผู้มาซื้อขายของในตลาดน้อยที่จำเลยทั้งสองประกอบการอยู่หาใช่เป็นถนนคอนกรีตสำหรับบุคคลทั่วไปใช้สัญจรไม่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 5788 เลขที่ดิน 367ตำบลตลาดน้อย (สัมพันธวงศ์) อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง)จังหวัดพระนครพร้อมตึกแถวเลขที่ 922/14 ของโจทก์เท่านั้นหารวมถึงทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถว ขนาดกว้างประมาณ1 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร เนื้อที่ดิน 1 ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 ของจำเลยทั้งสองไม่จำเลยทั้งสองยินยอมโดยปริยายให้โจทก์ครอบครองทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถวดังกล่าว โจทก์เพิ่งแสดงออกยึดถือครอบครองทางเท้าอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อมีข้อพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่7641/2533 หมายเลขแดงที่ 15755/2534 ซึ่งยังไม่ถึง 10 ปีจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ มูลคดีนี้ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2254/2536 แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหล่อ เอื้อมนารมย์ ตามคำสั่งศาลแพ่งจำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้นายสง่า เอื้อมนารมย์ ดำเนินคดีนี้ กลางปี 2534โจทก์ก่อสร้างฟุตบาทรุกล้ำที่ดินของจำเลยทั้งสองประมาณ 1 เมตรเต็มพื้นที่หน้าตึกแถวของโจทก์ เพื่อวางตู้กระจกใส่สินค้าเสนอขายระหว่างเวลา 9 ถึง 20 นาฬิกา และด้านบนจะมีกันสาดผ้าใบยื่นออกมาจากตึกแถว 2 เมตร ยาว 4 เมตร ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิทำได้เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองอันเป็นการละเมิด ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินที่โจทก์รุกล้ำให้บุคคลอื่นเช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าวันละ100 บาท ขอให้โจทก์รื้อถอนฟุตบาทและกันสาดที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องหรือก่อสร้างรวมทั้งวางสิ่งใดในที่ดินของจำเลยทั้งสอง กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะรื้อถอนเสร็จสิ้น

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3338เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาปี 2503 เจ้าของที่ดินทำการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยปลูกสร้างตึกแถวขายพร้อมทำทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถวเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อตึกแถวเนื้อที่ดินของเลขที่ดิน235 ที่เหลือภายหลังแบ่งแยกเจ้าของที่ดินสร้างเป็นถนนคอนกรีตเพื่อใช้เป็นทางออกสู่ถนนเจริญกรุง เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8788 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 ดังกล่าวพร้อมตึกแถวเลขที่ 922/14 แล้วได้เข้าครอบครองที่ดินพร้อมตึกแถวและทางเท้าใต้กันสาดหน้าตึกแถวตลอดมาตั้งแต่ปี 2504ด้วยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาอย่างเป็นเจ้าของเกิน10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนทางเท้าและกันสาดและเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยทั้งสองจะนำที่ดินที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3338 ตำบลสัมพันธวงศ์อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) จังหวัดพระนคร มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ที่ดินพิพาทกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร เนื้อที่ประมาณ 1 ตารางวาคือที่ดินซึ่งใช้เป็นทางเท้าอยู่หน้าตึกแถวของโจทก์เลขที่ 922/14ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5788 ตำบลตลาดน้อย(สัมพันธวงศ์) อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) จังหวัดพระนครคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ดินพิพาทเป็นทางเท้าซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถใช้สัญจรไปมาได้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ครอบครองใช้สอยในที่ดินพิพาทโดยเพียงแต่นำตู้กระจกที่ใส่สินค้าออกไปวางขายในช่วงเช้าแล้วนำเข้าเก็บเมื่อปิดร้านค้า ครั้นปิดร้านค้าแล้วก็มิได้สงวนสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด คงปล่อยให้คนสัญจรไปมาดังเช่นทางเท้าทั่วไปดังนี้ แม้โจทก์จะวางตู้กระจกขายสินค้ามาเป็นเวลาช้านาน ก็คงเป็นเพียงการถือวิสาสะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในบางเวลาเป็นการชั่วคราวเท่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของอันจะมีลักษณะเป็นการครอบครองอย่างปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ส่วนที่โจทก์ฎีกามาด้วยว่า ที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นที่ดินอยู่ใต้กันสาดของตึกแถวโจทก์โดยสร้างกันสาดไว้อย่างถาวร นายปรีชาผู้ก่อสร้างน่าจะมีเจตนามอบพื้นที่ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ใต้กันสาดให้แก่เจ้าของตึกแถวทุกห้องนั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ การที่โจทก์ฎีกาว่านายปรีชาซึ่งเป็นเจ้าของผู้ก่อสร้างตึกแถวยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วนั้นจึงเป็นการฎีกาในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย เจียร์ เจียธราวานิช จำเลย - นาง มาลี เอื้อมนารมย์ กับพวก

ชื่อองค์คณะ ทวีชัย เจริญบัณฑิต ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดุสิต เพชรปลูก

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE