คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 443, 445, 1461 วรรคสอง, 1567 (3), 1649 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 5
จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น เมื่อผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่
ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ แต่จำเลยทั้งสองระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้
สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 บัญญัติว่า "ในกรณีทำให้เขาถึงตาย… ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย" การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสองได้
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 5,150,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของนายชาลี ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 กับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ 3 คน ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 3 คือ นายแม็ก เด็กชายราชภูมิ และเด็กหญิงจันทรรัตน์ โจทก์ทั้งสามและผู้ตายมีสัญชาติไทย เชื้อสายกะเหรี่ยง จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการระดับกรมสังกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนราชการระดับกระทรวง นายพรศักดิ์ นายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ 1 โดยนายวิเชษฐ์มีตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า นายอาจินต์และนายวิชาญเป็นพนักงานราชการตำแหน่งคนงาน ส่วนนายพรศักดิ์และนายวิวัฒน์เป็นบุคคลภายนอกปฏิบัติงานให้ส่วนราชการ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา นายพรศักดิ์ นายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ ออกปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และคุ้มครองสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยที่ 1 มีนายวิเชษฐ์เป็นหัวหน้าชุดโดยใช้เรือไฟเบอร์ติดเครื่องยนต์เป็นยานพาหนะลาดตระเวนไปตามลำน้ำห้วยขาแข้งโดยใช้วิธีพายเรือเพื่อไม่ให้เกิดเสียง ก่อนออกลาดตระเวนนายพรศักดิ์เบิกอาวุธปืน เอช เค 33 จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืน 20 นัด นายอาจินต์และนายวิชาญเบิกอาวุธปืนลูกซองคนละ 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนคนละ 10 นัด ติดตัวไป เมื่อเรือล่องมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 23 นาฬิกา พบกลุ่มคนอยู่บริเวณตลิ่ง นายพรศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืน เอช เค 33 ที่ติดตัวมายิง กระสุนปืนถูกผู้ตาย 1 นัด บริเวณศีรษะเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย นายพรศักดิ์กับพวกขึ้นไปบนตลิ่งพบผู้ตายนอนคว่ำหน้า เท้าชี้ลงลำน้ำ ศีรษะชี้ไปทางป่า และพบอาวุธปืนลูกซองยาวขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก ภายในรังเพลิงมีกระสุนปืน 1 นัด วางอยู่ที่พื้นบริเวณที่ผู้ตายนอนคว่ำหน้า และพบนายสาธิต หลานผู้ตายอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงได้ยึดอาวุธปืนลูกซองยาวดังกล่าวไว้เป็นของกลางและนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลบ้านไร่ ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกจตุพล พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านไร่ ได้รับแจ้งเหตุจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบ้านไร่จึงเดินทางไปตรวจสอบและร่วมชันสูตรพลิกศพ และตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุและถ่ายภาพไว้ ทั้งเก็บตัวอย่างคราบเลือดของผู้ตายตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของผู้ตายที่ปรากฏในอาวุธปืนลูกซองยาวของกลางส่งไปตรวจพิสูจน์ ตรวจสอบวิถีกระสุนปืน ส่งศพผู้ตายไปให้แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรชันสูตร ในสำนวนชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขแดงที่ ช.4/2560 ของศาลจังหวัดอุทัยธานี พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานียื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี ศาลจังหวัดอุทัยธานีไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือ นายชาลี ตายที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ผู้ตายใช้อาวุธปืนเล็งมายังกลุ่มเจ้าพนักงาน จึงถูกนายพรศักดิ์ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งใช้อาวุธปืนยิง กระสุนปืนถูกบริเวณศีรษะ ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนที่ศีรษะทำลายสมอง ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพรศักดิ์ นายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อแรกว่า นายพรศักดิ์ นายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุนายพรศักดิ์ นายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ ออกลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน การที่นายพรศักดิ์เห็นผู้ตาย นายสาธิตและนายอาทิตย์อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโดยเฉพาะนายสาธิตมีอาวุธปืนติดตัวกำลังเดินมาที่ริมตลิ่งใกล้กับจุดที่นายพรศักดิ์กับพวกจอดเรืออยู่ เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่แล้วจะพากันหลบหนี ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่านายพรศักดิ์ใช้อาวุธปืนยิงเพื่อข่มขู่สกัดไม่ให้ผู้ตายกับพวกหลบหนี โดยไม่ได้มีเจตนายิงผู้ตายแต่อย่างใด แต่การที่นายพรศักดิ์ใช้อาวุธปืน เอช เค 33 ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางกลุ่มผู้ตายแล้วกระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณศีรษะโดยขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนซึ่งทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง นายพรศักดิ์ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการใช้อาวุธปืน การที่นายพรศักดิ์ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายในขณะนั้นเป็นเหตุให้กระสุนปืนถูกศีรษะผู้ตายจนถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งนายพรศักดิ์จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นการละเมิดต่อผู้ตาย ส่วนนายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ซึ่งโจทก์ทั้งสามฟ้องว่าร่วมกับนายพรศักดิ์จงใจหรือประมาทเลินเล่อใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย นั้น เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุนายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์จะอยู่บนเรือด้วยกันกับนายพรศักดิ์ก็ตาม แต่ขณะที่นายพรศักดิ์ใช้อาวุธปืนยิงไปทางผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ได้ร่วมกับนายพรศักดิ์ใช้อาวุธปืนยิงไปทางผู้ตายเพื่อข่มขู่สกัดไม่ให้หลบหนีด้วย การกระทำของนายพรศักดิ์จึงเป็นการกระทำโดยลำพังเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายวิเชษฐ์ นายอาจินต์ นายวิชาญและนายวิวัฒน์ร่วมทำละเมิดกับนายพรศักดิ์ด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายพรศักดิ์เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และทำละเมิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของนายพรศักดิ์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด นั้น ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 7 (2) จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการในสังกัดจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 23 (9) จำเลยที่ 2 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ดังนั้น นายพรศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามที่จำเลยทั้งสองให้การและกล่าวอ้างมาในคำแก้ฎีกาหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ทายาทของผู้ตาย โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ส่วนโจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กับค่าขาดแรงงาน โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ กับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ได้หรือไม่ เพียงใด สำหรับค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธการเยียวยาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งสามจำนวน 900,000 บาท นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของนายพรศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวได้ ส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 3,000,000 บาท นั้น โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องและนำสืบทำนองว่า ขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายอายุประมาณ 36 ปี มีอาชีพปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่ และรับจ้างทั่วไปมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 1 อายุประมาณ 57 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพจึงไม่มีรายได้ ผู้ตายเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด เห็นว่า ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงฐานานุรูปของโจทก์ที่ 1 และผู้ตายดังกล่าวประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมา 3,000,000 บาท สูงเกินไป สมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ 100,000 บาท เห็นว่า ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 นำสืบว่าได้ร่วมกันจัดงานศพผู้ตาย 3 คืน โดยมีภาพถ่ายการจัดงานศพมาแสดง แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่มีพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ มานำสืบสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้มอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้และแก้ฎีกามาก็ตาม แต่การจัดงานศพย่อมมีค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดงาน โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้มอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสองได้ระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ดีที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ 100,000 บาท นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จัดการศพเพียง 3 คืน และคำนึงถึงฐานานุรูปของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 3 แล้ว ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เรียกร้องมาจึงสูงเกินไป สมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ 30,000 บาท ส่วนที่โจทก์ทั้งสามร่วมกันเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน 1,150,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 บัญญัติว่า "ในกรณีทำให้เขาถึงตาย…ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย" การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเพียงแต่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ รวมแล้วจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าขาดไร้อุปการะ 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ 30,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าขาดไร้อุปการะ 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(พ)162/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ส. กับพวก จำเลย - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับพวก
ชื่อองค์คณะ ปรีชา เชิดชู ทรงพล สงวนพงศ์ ปุณณะ จงนิมิตรสถาพร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายชาญชัย ศรีแสงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ - นางอุไรวรรณ กล้าประเสริฐ