สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215, 225 พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ม. 13 (1), 15 (1)

เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด…" ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดต่อกฎหายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างต้นเดือนตุลาคม 2556 ถึงต้นเดือนธันวาคม 2556 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันหลอกลวงนายธนสาร กรรมการผู้จัดการบริษัท พ. ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ว่า "มีงานโครงการพระราชดำริ ของในหลวงก่อสร้างบ้านพักชั้นเดียวหลายจังหวัด มูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท โดยให้วางเงินมัดจำ 20 ล้านบาท" และได้พูดว่า "จะรับงานไหม หากสนใจให้ทำโปรไฟล์ของบริษัทมาให้เพื่อจะนำไปเสนอข้างใน" และพูดอีกว่า "การเซ็นสัญญา MOU ให้ไปเซ็นในวัง" ซึ่งคำว่า "ในหลวง" บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และคำว่า "วัง" คือสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คำพูดดังกล่าวเป็นการแอบอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นมีพระราชดำริให้มีโครงการดังกล่าว ความจริงแล้ว ไม่ได้มีพระราชดำริโครงการดังกล่าวขึ้นและไม่ใช่โครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการหลอกลวงแอบอ้างดังกล่าวของจำเลยทั้งเก้ากับพวกเป็นเหตุให้นายธนสารหลงเชื่อ ไปจัดทำเอกสารเกี่ยวกับบริษัทเพื่อแสดงสถานะทางการเงิน เมื่อจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้รับเอกสารดังกล่าวจากนายธนสารแล้ว จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันพูดว่า "เดี๋ยวจะนำไปเสนอข้างในให้" อันเป็นการแสดงต่อนายธนสารว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกจะนำเอกสารของนายธนสารไปเสนอต่อสำนักพระราชวังหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และร่วมกันแจ้งนายธนสารว่า ขอเปลี่ยนเงินมัดจำจากเดิม 20 ล้าน เป็น 50 ล้านบาท ทั้งนี้การกระทำของจำเลยทั้งเก้ากับพวกทำให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ว่าการดำเนินการโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น พระองค์ทรงเรียกรับสินบน อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันจัดให้มีการทำสัญญาตามโครงการที่กล่าวอ้างที่โรงแรม ด. โดยจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้แบ่งหน้าที่กันทำ แอบอ้างพูดกับนายธนสารว่า "เขาเปลี่ยนสถานที่ ในสำนักพระราชวังไม่สะดวก ให้มาเซ็นที่โรงแรมแทน แต่ไม่ต้องกลัว มีผู้ใหญ่ฝ่ายกฎหมายของสำนักพระราชวังมาดูแลเรื่องสัญญา" ในวันดังกล่าวนายธนสารเตรียมเงินค่ามัดจำมาไม่ครบ จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันพูดข่มขู่นายธนสารว่า "ไม่ได้ คุณต้องไปเตรียมมาให้ครบ เพราะว่าส่วน 30 ล้านเนี้ยะ ต้องนำไปถวายส่วนพระองค์ ไม่งั้นจะกลายเป็นหมิ่นเบื้องสูง เพราะคนของท่านออกมาแล้ว เดี๋ยวบริษัทจะอยู่ลำบาก" และจำเลยทั้งเก้ากับพวกยังร่วมกันพูดอีกว่า "เดี๋ยวเซ็นสัญญาให้โชว์เช็ค 20 ล้านบาท ส่วนอีก 30 ล้านบาทไม่ต้องโชว์ เพราะพระองค์ท่านไม่ต้องการให้ใครรู้" และพูดอีกว่า "เช็คที่เหลืออีก 30 ล้าน ที่จะนำไปถวายอยู่ไหน" ในการทำสัญญาจำเลยที่ 8 ได้แต่งกายในชุดเครื่องแบบข้าราชการสีกากี ติดเข็มตราสัญลักษณ์เครื่องหมายของสำนักพระราชวัง รวมทั้งลงชื่อเป็นพยานในสัญญา ทั้งนี้เป็นการทำให้นายธนสารเข้าใจได้ว่าโครงการที่จำเลยทั้งเก้ากับพวกแอบอ้างเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และบริษัท พ. โดยนายธนสารได้รับอนุมัติให้ทำสัญญาและได้มอบเงินมัดจำ 30,000,000 บาท ให้แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การกระทำของจำเลยทั้งเก้ากับพวกทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ต้องมีการมอบเงินให้จำเลยทั้งเก้ากับพวก แล้วจำเลยทั้งเก้ากับพวกจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการลดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ทำให้เสียหายต่อพระราชวงศ์จักรี ทำให้ผู้อื่น ประชาชน ดูหมิ่น เกลียดชังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเมื่อระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถึงปลายเดือนตุลาคม 2558 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันแอบอ้างกับนายธนสารซึ่งได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ เพื่อประกอบการขอหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ว่า "มันเป็นความลับของสำนักพระราชวัง" และยังได้พูดอีกว่า "โครงการมีอยู่จริง เงินที่จะสร้างโครงการเป็นเงินส่วนพระองค์ และมีทองคำมหาศาลของในวังค้ำอยู่สร้างในที่ราชพัสดุทั่วประเทศ 77 จังหวัด" และยังพูดอีกว่า "เดี๋ยวเราสบายแล้ว ทำงานรับใช้พ่อหลวง" อีกทั้งเมื่อนายธนสารติดต่อขอทราบรายละเอียดอีกครั้ง จำเลยทั้งเก้ากับพวกโดยจำเลยที่ 1 แอบอ้างว่ามีโครงการสวนเกษตร 555 และยังพูดว่า "จะนำเงินไปถวายพ่อหลวง จะนำเด็กมูลนิธิพระดาบสมาฝึกงานในที่ดังกล่าวให้เราช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติ หากทำสำเร็จแล้วทุกคนจะได้เครื่องราชสายสะพาย" และจำเลยที่ 1 ยังได้แอบอ้างอีกว่า "โครงการดังกล่าวเป็นของผม ผมทำเอง เราสร้างเสร็จก็เอาไปถวายในหลวง ไม่ใช่โครงการของในวัง เป็นโครงการของผมส่วนตัว" ซึ่งคำว่าพ่อหลวงหรือในหลวงนั้น บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นการแอบอ้างว่าพระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยสามารถชำระเงินค่าจ้างเนื่องจากสำนักพระราชวังมีทองคำจำนวนมาก อีกทั้งการที่กล่าวอ้างว่าหากทำตามที่จำเลยทั้งเก้ากับพวกเสนอให้แล้วจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สายสะพาย) จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าพระองค์ทรงมีพระราชดำริในการทำโครงการ รวมทั้งจำเลยทั้งเก้ากับพวกสามารถประสานสำนักพระราชวังเพื่อเสนอให้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สายสะพาย) นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ทำให้เสียหายต่อพระราชวงศ์จักรี อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้อื่น ประชาชน ดูหมิ่น เกลียดชังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหตุเกิดที่แขวงพระนครไชยศรี (แขวงถนนนครไชยศรี) เขตดุสิต แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน แขวงดินแดง เขตดินแดง แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี และแขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4631/2557 ของศาลจังหวัดมีนบุรี และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1290/2558 ของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ทั้งสองคดี จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดคดีนี้อีก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ตามลำดับ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 112 บวกโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4631/2557 ของศาลจังหวัดมีนบุรี และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1290/2558 ของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ นับโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 คดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ

จำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นเป็นคดีใหม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง คงจำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 18 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 8 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระครเหนือ

โจทก์และจำเลยที่ 8 ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องว่า มูลเหตุและการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นมูลเหตุและการกระทำเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงให้จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 8 จึงไม่อาจถูกดำเนินคดีนี้ซ้ำอีกในการกระทำเดียวกันได้ และในคดีที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นเป็นคดีใหม่คือ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2618/2561 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปเนื่องจากได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ขอให้ศาลยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในคดีอาญา เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คู่ความยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ คงมีแต่บทบัญญัติเรื่องการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 เท่านั้น จึงให้ยกคำร้อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องว่า ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ศาลพิพากษาให้นับโทษจำเลยที่ 8 ต่อนั้น เป็นคดีอาญาข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันเดียวกับคดีนี้ อันเป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งหากได้นำมาสืบแล้วจะแสดงว่า ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 8 เป็นคดีนี้ นอกจากนี้ในคดีที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นเป็นคดีใหม่ คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปถือเป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีเช่นกัน ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วทำความเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 8 มีมูลพอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ และส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 8 มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีนี้ใหม่ต่อไป

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1760/2560 ของศาลชั้นต้น และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีดังกล่าว (พิพากษายกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาใหม่ให้ยกฟ้อง)

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 (คำพิพากษาศาลชั้นต้นเดิม)

จำเลยที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่จำเลยที่ 8 ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวจึงต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด…" ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวกในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 8 คดีนี้กับพวกว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 8 คดีนี้กับพวกร่วมกันหลอกลวงนายธนสาร กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พ. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ กล่าวคือ เริ่มจากประมาณต้นเดือนธันวาคม 2556 ได้มีบุคคลผู้มีชื่อซึ่งเป็นตัวแทนของนายโชคศุทธิพัฒน์ (จำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าว) มาติดต่อบริษัท พ. ให้ไปรับงานรับเหมาก่อสร้างห้องแถวพักอาศัย คสล.1 ชั้น 8 ห้อง กับบริษัท อ. (จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว) ซึ่งมีนายศรีวิชัย (จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว) เป็นกรรมการ นายศรีวิชัยอ้างว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการในพระราชดำริ ก่อสร้างเพื่อประโยชน์สาธารณะและก่อสร้างในที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ โดยนัดให้มีการประชุมผู้ดำเนินงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ที่โรงแรม ด. และกำหนดเงื่อนไขว่า ในวันประชุมให้บริษัท พ. วางเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นเช็คของธนาคารเพื่อค้ำประกันงานที่รับทำ ครั้นถึงวันประชุม (12 ธันวาคม 2556) กรรมการบริษัท พ. และทีมงานกับจำเลยทั้งเก้าในคดีดังกล่าวและทีมงานมาร่วมประชุม โดยจำเลยที่ 8 คดีนี้ซึ่งเป็นข้าราชการในสำนักพระราชวังแต่งเครื่องแบบข้าราชการของสำนักพระราชวังมาร่วมประชุมด้วย เป็นเหตุให้กรรมการบริษัท พ. หลงเชื่อว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการในพระราชดำริจริง และตกลงทำสัญญากับบริษัท อ. กับยอมมอบเงิน 50 ล้านบาทให้แก่จำเลยที่ 8 กับพวกไป หลังจากทำสัญญาแล้ว บริษัท พ. ได้ติดต่อธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันสัญญาว่าจ้างโครงการดังกล่าว แต่ธนาคารไม่สามารถออกหนังสือให้ได้ เนื่องจากยังขาดเอกสารเกี่ยวกับโครงการ กรรมการบริษัท พ. จึงปรึกษากับนายศรีวิชัยกรรมการของบริษัท อ. นายศรีวิชัยอ้างว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้เนื่องจากเป็นความลับของสำนักพระราชวัง ต่อมาบริษัท พ. จึงทราบว่าโครงการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสำนักพระราชวัง การกระทำของจำเลยที่ 8 คดีนี้กับพวกเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และในการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 8 คดีนี้กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบริษัท พ. เป็นเงิน 50 ล้านบาท ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม กล่าวคือ กรรมแรก เมื่อระหว่างต้นเดือนตุลาคม 2556 ถึงต้นเดือนธันวาคม 2556 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันหลอกลวงนายธนสาร กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พ. ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างว่า "มีงานโครงการพระราชดำริของในหลวงก่อสร้างบ้านพักชั้นเดียวหลายจังหวัด มูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท โดยให้วางเงินมัดจำ 20 ล้านบาท" และพูดว่า "จะรับงานไหม หากสนใจให้ทำโปรไฟล์ของบริษัทมาให้เพื่อจะนำไปเสนอข้างใน" การเซ็นสัญญาให้ไปเซ็นในวัง" และต่อมาได้ขอเพิ่มวงเงินมัดจำเป็น 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า พระองค์ทรงเรียกรับสินบน กรรมที่สอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันจัดให้มีการทำสัญญาตามโครงการที่กล่าวอ้างที่โรงแรม ด. โดยจำเลยที่ 8 กับพวกได้แบ่งหน้าที่กันทำ แอบอ้างพูดกับนายธนสารว่า "เขาเปลี่ยนสถานที่ ในสำนักพระราชวังไม่สะดวก ให้มาเซ็นที่โรงแรมแทน แต่ไม่ต้องกลัวมีผู้ใหญ่ฝ่ายกฎหมายของสำนักพระราชวังมาดูแลเรื่องสัญญา" เมื่อนายธนสารเตรียมเงินมาไม่ครบ จำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันพูดข่มขู่นายธนสารว่า "ไม่ได้ คุณต้องไปเตรียมมาให้ครบ เพราะว่าส่วน 30 ล้านเนี้ยะ ต้องไปนำถวายส่วนพระองค์ ไม่งั้นจะกลายเป็นหมิ่นเบื้องสูง เพราะคนของท่านออกมาแล้ว เดี๋ยวบริษัทจะอยู่ลำบาก เดี๋ยวเซ็นสัญญาให้โชว์เช็ค 20 ล้านบาท ส่วนอีก 30 ล้านบาทไม่ต้องโชว์ เพราะพระองค์ท่านไม่ต้องการให้ใครรู้" อีกทั้งยังพูดว่า "เช็คที่เหลืออีก 30 ล้าน ที่จะนำไปถวายอยู่ไหน โดยจำเลยที่ 8 ได้แต่งกายเครื่องแบบข้าราชการสีกาสีติดเข็มตราสัญลักษณ์เครื่องหมายของสำนักพระราชวัง เป็นการทำให้นายธนสารเข้าใจได้ว่า โครงการที่จำเลยที่ 8 กับพวกแอบอ้าง เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 8 กับพวกไป กรรมที่สาม เมื่อระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถึงปลายเดือนตุลาคม 2558 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 8 กับพวกร่วมกันแอบอ้างต่อนายธนสารซึ่งขอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าวเพื่อประกอบการขอหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ว่า "มันเป็นความลับของสำนักพระราชวัง โครงการมีอยู่จริง เงินที่จะสร้างโครงการเป็นเงินส่วนพระองค์และมีทองคำมหาศาลของในวังค้ำอยู่ สร้างในที่ราชพัสดุทั่วประเทศ 77 จังหวัด เดี๋ยวเราสบายแล้ว ทำงานรับใช้พ่อหลวง" จำเลยที่ 8 กับพวกยังแอบอ้างว่ามีโครงการสวนเกษตร 555 และยังพูดว่า "จะนำเงินไปถวายพ่อหลวง จะนำเด็กมูลนิธิพระดาบสมาฝึกงานในที่ดังกล่าวให้เราช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติ หากทำสำเร็จแล้วทุกคนจะได้เครื่องราชสายสะพาย" ซึ่งเป็นการแอบอ้างว่าพระองค์ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวสามารถชำระเงินค่าจ้างเนื่องจากสำนักพระราชวังมีทองคำจำนวนมาก และหากดำเนินการสำเร็จจำเลยที่ 8 กับพวกสามารถประสานสำนักพระราชวังเพื่อเสนอให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี ลดพระเกียรติ การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโครงการพระราชดำริต้องมีการมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 8 กับพวกแล้วจำเลยที่ 8 กับพวกจะต้องนำเงินไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงที่บรรยายฟ้องมาในทั้งสองคดีดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 8 กับพวกว่า การที่จำเลยที่ 8 กับพวกกล่าวข้อความหมิ่นประมาทตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการหลอกลวงบริษัท พ. แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวกจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ นั้น ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องซ้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดิมที่ให้ลงโทษจำเลยที่ 8 และพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา รอ.1/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย ศ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล ธนาคม ลิ้มภักดี อภิชาต ภมรบุตร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางสาวิภวา กิจดำรงวินิจกุล ศาลอุทธรณ์ - นายสมศักดิ์ ประกอบแสงสวย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th