สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5200/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5200/2566

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้ก็เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 เช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่า มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าอย่างไร การนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นการนำสืบโดยใช้วิธีอธิบายพยานเอกสารให้มีความหมายต่างไปจากที่ปรากฎในพยานเอกสารหรือเป็นการให้ความเห็นเท่านั้น ถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า จึงต้องฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ

คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 44,304 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินของโจทก์ จำนวนค่าเสียหายจึงเริ่มต้นนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าเสียหายเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ได้ ถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3325, 3369, 3370 และ 3371 ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สิน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการเองโดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 44,304 บาท นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดิน

จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3325, 3369, 3370 และ 3371 เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ราชพัสดุ ชบ.465 ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนสำหรับจำเลยทั้งสี่และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่มีว่า ที่ดินพิพาทออกโฉนดทับที่สนามยิงเป้าอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีนาวาโทวัลลภ เคยดำรงตำแหน่ง นายทหารที่ดิน กรมสวัสดิการทหารเรือ เบิกความถึงประวัติความเป็นมาของที่ดินสนามยิงเป้า ประกอบหนังสือโต้ตอบของหน่วยราชการเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินเพิ่ม 8 โฉนดระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2458 (เดิมถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปี ต่อมาถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นไป ตามสำเนาประกาศคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เอกสารหมาย จ. 24) โดยแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 แนบท้ายหนังสือศาลากลางเมืองชลบุรี ที่ 36/4132 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2458 เอกสารหมาย จ. 18 เป็นหนังสือที่อำมาตย์เอกพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี มีไปถึงนายพลเรือตรี ปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2458 ในการจัดซื้อที่ดินมีโฉนด 8 แปลง ว่า ได้จัดทำแผนที่ เอกสารหมาย จ. 19 กำหนดขอบเขตของสนามยิงเป้าไว้รวมที่ดิน 8 โฉนด ที่จัดซื้อเพิ่มด้วย ซึ่งต้นฉบับเดิมชำรุดเสียหาย เจ้าพนักงานที่จังหวัดชลบุรีจึงออกใบแทนโฉนดให้ โดยที่ดินมีโฉนด 8 แปลง ดังกล่าวอยู่กระจัดกระจายติดต่อกันบ้างไม่ติดต่อกันบ้างเป็นบางส่วนของพื้นที่สนามยิงเป้า แผนที่เอกสารหมาย จ. 19 เป็นแผนที่ขอบเขตสนามยิงเป้าที่จัดทำขึ้นใน ปี 2458 หนังสือตอบโต้ของหน่วยราชการเอกสารหมาย จ. 11 ถึง จ. 19 ดังกล่าวไม่มีผู้รู้เห็นโดยตรงหลงเหลืออยู่ จะต้องรับฟังจากคำบอกเล่าและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เป็นสำคัญ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ในปี 2458 กองทัพเรือได้กำหนดขอบเขตพื้นที่สนามยิงเป้าไว้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 ส่วนแผนที่เอกสารหมาย จ. 21/1 (จ. 21 แผ่นที่ 3 (ที่ถูก แผ่นที่6)) เป็นแผนที่จัดทำในการรังวัดสอบเขตสนามยิงเป้าในปี 2470 กรณีที่ราษฎร 2 รายบุกรุก แนบท้ายหนังสือศาลารัฐบาลมณฑลปราจิณ ที่ 404/16512 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2470 สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจิณ กราบทูลมหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงทราบ ต้นฉบับแผนที่มีสภาพเก่า กรมธนารักษ์จึงมอบหมายให้นายนพชัย ทำสำเนาขึ้นใหม่ ซึ่งรูปแผนที่เอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 6 รูปเหมือนกับแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2501 กองทัพเรือขอใช้ที่ดินสนามยิงเป้าอีกครั้งเพื่อประโยชน์ด้านการสวัสดิการทหารเรือ ซึ่งในหนังสือก็ระบุว่า คือ "ด้วยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 กองทัพเรือได้ปกครอง…ที่ดินของทางราชการ เพื่อประโยชน์ในราชการทหารเรือในขณะนั้น ที่ดินดังกล่าว คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3033, 3034, 3035, 3036, 3037, 3038, 3039 และ 2617 กับที่ไม่มีโฉนดบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งใช้เป็นสนามยิงเป้าและกิจการอื่นของกองทัพเรือในขณะนั้น" อันแสดงว่านอกจากที่ดินมีโฉนด 8 แปลง แล้วยังมีที่ดินที่ไม่มีโฉนดรวมเป็นสนามยิงเป้าด้วย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2502 กระทรวงการคลังไม่ขัดข้องและขอให้สอบสวนกรณีผู้ออกโฉนดทับที่ดินดังกล่าว กองทัพเรือสอบสวนหลวงวินิจสาลี อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี โดยที่เมื่อประมาณปี 2458 ยังรับราชเป็นนายทะเบียนที่ดินจังหวัดชลบุรี เป็นผู้ไปดูเขตสงวนสนามยิงเป้า กับพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในสมัยนั้น และเป็นผู้ลงชื่อในแผนที่หมาย จ. 19 ด้วย โดยลงชื่อว่า "นายช้อย" (หลวงวินิจสาลี ชื่อเดิม นายช้อย) และสอบสวนขุนวงศาโรจน์เกษตรสาร อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีต่อจากหสวงวินิจสาลีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2481 และทราบอาณาเขตบริเวณสนามยิงเป้า ทั้งหลวงวินิจสาลีและขุนวงศาโรจน์เกษตรสารรับรองแผนที่เอกสารหมาย จ. 30 และเอกสารหมาย จ. 29 (แผนที่ต่อเนื่องกันเป็นผังเดียว) ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ. 27 และ จ. 28 ซึ่งแผนที่เอกสารหมาย จ. 30 และ จ. 29 (แผนที่ต่อเนื่องกันเป็นผังเดียว) ก็เหมือนกับแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 และแผนที่เอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 6 เมื่อพิจารณาระวาง 36ต 11ฏ เอกสารหมาย ล. 22 ที่จำเลยทั้งสี่อ้างเข้ามาในสำนวน ที่ดินพิพาทระบายด้วยสีชมพู โดยนำไปเทียบกับระวาง 36ต 11ฏ ปี 2496 เอกสารหมาย จ. 29 ซึ่งรับรองแนวเขตสนามยิงเป้าโดยหลวงวินิจสาลีเมื่อปี 2502 และขุนวงศาโรจน์เกษตรสารเมื่อ ปี 2503 ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ. 27 และ จ. 28 ตามลำดับ และนำไปเทียบกับแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 ปี 2458 ซึ่งจัดทำโดยขุนวินิจสาลีแล้ว ที่พิพาทอยู่ในเขตสนามยิงเป้า โดยแผนที่เอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 6 ถูกใช้ในการทำแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล. 7 จำเลยทั้งสี่เองก็รับรองแผนที่พิพาทนี้ไว้แล้วในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยจำเลยทั้งสี่แถลงขอใช้แผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล. 7 กรณีจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่เขตของที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 จ. 21/1 (จ. 21 แผ่นที่ 6)

ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า แผนที่เอกสารหมาย จ. 19 แผนที่เอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 3 (ที่ถูก แผ่นที่ 6) (คัดลอกมาจากเอกสารหมาย จ. 21/1) ที่โจทก์อ้างว่าเป็นแผนที่สนามยิงเป้าบางพระของกองทัพเรือที่รังวัดจัดทำขึ้นในปี 2470 เป็นความเท็จ แผนที่ดังกล่าวไม่มีอยู่จริงนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ระบุว่า "เจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ได้นำต้นฉบับเอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 6 มาอ้างต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจดู แต่ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมีสภาพเก่ามาก ฉีกขาดออกเป็นส่วน ๆ เจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์จึงได้นำต้นฉบับเอกสารที่ฉีกขาดดังกล่าวมาปะติดปะต่อกับสำเนาแผนที่ฉบับใหญ่เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจดูความถูกต้อง เสร็จแล้วได้ขอคืนต้นฉบับดังกล่าว คู่ความอีกฝ่ายตรวจดูต้นฉบับกับสำเนาแผนที่ฉบับใหญ่แล้ว โจทก์จึงขออ้างส่งเพิ่มเติม ศาลหมาย จ. 21/1" อันเป็นการที่ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ได้ตรวจดูกับต้นฉบับแผนที่แนบท้ายหนังสือศาลารัฐบาลมณฑลปราจิณ ที่ 404/16512 วันที่ 29 ธันวาคม 2470 สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจิณ กราบทูล มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงทราบ ในการรังวัดสอบเขตเนื่องจากมีผู้บุกรุกเขตสนามยิงเป้า อันแสดงให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของต้นฉบับแผนที่ เอกสารหมาย จ. 21 แผ่นที่ 6 แล้ว

ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า นางสมบุญครอบครองและทำประโยชน์จนได้สิทธิในที่ดินพิพาท เดิมที่ดินพิพาทเป็นแปลงเลขที่ 137 และต่อมานายเพา นายทิว และนายหง ต่างคนต่างเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องเรื่อยมานั้น ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ หน้า 84 รับว่า "ระหว่างปี 2469 ถึงปี 2476 วันเวลาใดไม่ปรากฎชัด นางสมบุญได้ละทิ้งที่ดินพิพาทไปซึ่งตามกฎหมายที่ดินถือว่าสละการครอบครอง หลังจากนั้นมีนายเพา นายทิว นายหง ต่างคนต่างเข้าครอบครองและทำประโยชน์โดยทำนาและปลูกสับปะรดในที่ดินบางส่วนของที่ดินเลขที่ 137 ตามกฎหมายที่ดินถือว่า เป็นการสืบสิทธิการครอบครองที่ดินแปลงเลขที่ 137 ต่อจากนางสมบุญ" รวมทั้งจำเลยที่ 3 ก็ตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า นายเพาได้ก่นสร้างเข้าครอบครอง ไม่ได้อ้างว่าได้ครอบครองต่อจากนางสมบุญ ถือว่าจำเลยทั้งสี่รับข้อเท็จจริงแล้วว่านางสมบุญได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ยิ่งกว่านั้น แม้จำเลยทั้งสี่จะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินเลขที่ 137 ของนางสมบุญ แต่ก็ไม่ปรากฎว่า นายเพา นายหง และนายทิวได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจากนางสมบุญ แต่อย่างใด กลับปรากฏว่ามีการออกโฉนดเลขที่ 3325 ให้แก่นายเพา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2487 ออกโฉนดเลขที่ 3327 ให้แก่นายหง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2487 และออกโฉนดเลขที่ 3393 ให้แก่นายทิว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2488 โดยนายเพาให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 ว่า ได้ที่ดินมาโดยการก่นสร้างทำประโยชน์มาประมาณ 9 ปี นายหงให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2487 ว่า ได้ที่ดินโดยเข้าก่นสร้างตั้งแต่ปี 2478 และบางส่วนซื้อมาจากนายตานเมื่อปี 2486 ไม่มีหนังสือสัญญาต่อกัน และนายทิวให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2487 ว่า เข้าก่นสร้างถากถางมาประมาณ 10 ปี ทั้งสามมิได้อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนางสมบุญแต่อย่างใด จึงเป็นการที่นายเพา นายหงและนายทิวเริ่มต้นเข้าถือครองที่ดินพิพาทด้วยตนเอง ไม่ใช่การสืบสิทธิต่อจากบุคคลใด เห็นว่า การก่นสร้างคือการขุดโค่นต้นไม้ตอไม้และแผ้วถางเพื่อปลูกสร้าง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 7) ต่างจากการสืบสิทธิคือการถือสิทธิต่อเนื่องเป็นลำดับ ดังนั้น ไม่ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นแปลงเดียวกับที่นางสมบุญครอบครองหรือไม่ การที่นายเพา นายหง และนายทิวเข้าก่นสร้างในที่ดินพิพาทก็ไม่ใช่การสืบสิทธิดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงไม่อาจเป็นการสืบสิทธิของบุคคลใดๆ ได้ การเข้าก่นสร้างของบุคคลทั้งสามล้วนเกิดขึ้นในช่วงปี 2477 ถึงปี 2478 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากกองทัพเรือได้เข้าใช้ที่ดินพิพาทเป็นสนามยิงเป้าตั้งแต่ปี 2458 ตามแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 การที่ที่ดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ ขึ้นอยู่ตามสภาพการใช้งาน แม้ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ แต่เมื่อมีการให้หน่วยงานราชการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะได้ การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นเพียงการรวบรวมที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะมาขึ้นทะเบียนไว้ โดยที่กองทัพเรือได้มีเจตนาหวงห้ามหรือสงวนที่ดินสนามยิงเป้านี้ไว้เพื่อใช้ในกิจการของกองทัพเรือตั้งแต่ปี 2458 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการอันต่อมาถือว่าเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) ในเวลาต่อมาแล้ว และโดยเฉพาะประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ตรี วรรคหนึ่ง "ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อธิบดีอาจจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงเขตไว้เป็นหลักฐาน" และวรรคสาม "ที่ดินตามวรรคหนึ่งแปลงใดยังไม่มีหนังสือสําคัญสําหรับที่หลวง เขตของที่ดินดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักฐานของทางราชการ" จึงต้องถือว่าแผนที่เอกสารหมาย จ. 19 และแผนที่เอกสารหมาย จ. 21/1 (จ. 21 แผ่นที่ 6) อันเป็นหลักฐานของทางราชการเป็นแผนที่เพื่อแสดงขอบเขตของสนามยิงเป้า เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (2) นอกจากนี้ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของนายเพา นายหง และนายทิว นั้น ตามพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน รัตนโกสินทร์ ศก 127 มาตรา 36 ไม่ให้ถือเป็นเหตุที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์พ้นจากความรับผิดชอบและความจำเป็น จะต้องประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายซึ่งบังคับในการที่ดิน คือ ในการเก็บภาษีอากรและการที่รัฐบาลจะต้องการที่เพื่อราชการหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้น และมาตรา 61 หากที่ดินซึ่งกรมการอำเภอได้ออกใบเหยียบย่ำให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดไป แม้ความปรากฏภายหลังว่าเป็นที่ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความประสงค์จะให้ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นที่ ๆ รัฐบาลหวงห้าม จะเอาไว้เป็นที่สำหรับประโยชน์ราชการ.. จะไม่ยอมให้ผู้นั้นจองก็ดี… ผู้ถือใบเหยียบย่ำไม่มีอำนาจจะอ้างว่าตนควรจะได้ที่จองนั้นตามประสงค์ ดังนั้น ที่ดินบริเวณสนามยิงเป้าของกองทัพเรือเดิมอันเป็นที่หลวงหวงห้ามเพื่อใช้ในราชการของกองทัพเรือจึงเป็นที่ดินที่รัฐบาลต้องการหวงห้ามเพื่อประโยชน์ราชการ การที่นายเพา นางหง และนายทิว เข้าไปก่นสร้างและขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 35 ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาใช้ยันต่อรัฐได้ตามมาตรา 36 และ 61 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น แม้จำเลยทั้งสี่ได้สืบสิทธิที่ดินพิพาทมาจากนายเพา นายหง และนายทิว โดยการซื้อขายหรือเข้าจับจองมานานเท่าใด ก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แผ่นดินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 และ 1306 โดยที่ที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2521 และ 1274 - 1279/2535 โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379 - 8381/2561 และที่ 401/2562 ได้พิพากษาเป็นที่สุดว่า ที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 เหมือนกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) โดยขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 ซึ่งจำเลยที่ 3 เองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวได้แบ่งแยกมาจากที่ดินของนายเพา นายหง และนายทิว เช่นเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) การนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นการนำสืบโดยใช้วิธีพยายามอธิบายพยานเอกสารให้มีความหมายต่างไปจากที่ปรากฏในพยานเอกสารหรือเป็นการให้ความเห็นเท่านั้น มิได้มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่ามาแสดงให้เห็นว่า ข้อความในเอกสารที่โจทก์นำสืบไม่ถูกต้องในสาระสำคัญหรือให้ศาลเห็นเป็นประการอื่น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า จึงต้องฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสี่เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นหรือเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า อุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 44,304 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินของโจทก์ จำนวนค่าเสียหายเริ่มต้นนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าเสียหายเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ได้ ถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.141/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - กระทรวงการคลัง จำเลย - นางสาวหรือนาง ว. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุรินทร์ ชลพัฒนา จุมพล ชูวงษ์ อดุลย์ ขันทอง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชลบุรี - นางปราณี รุ่งอภิญญา พรรคสุพรรณ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายอรรถสิทธิ์ รอดบำรุง

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th