สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5213/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5213/2566

พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ม. 8, 8 ทวิ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (7)

การที่ผู้คัดค้านนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเกินกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร อันเป็นการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายศุลกากรอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าเงินตราต่างประเทศของกลางเป็นเงินตราที่ได้มาโดยมิชอบ เงินตราต่างประเทศของกลางจึงมิใช่เครื่องมือหรือทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร จึงไม่อาจริบเงินของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.10 จำนวน 1 รายการ เป็นเงิน 158,600 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทไทย 4,810,862 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 58

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง และให้คืนทรัพย์ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.10 จำนวน 1 รายการ เป็นเงิน 158,600 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทไทย 4,810,828 บาท (ที่ถูก 4,810,862 บาท) พร้อมดอกผลแก่ผู้คัดค้าน โดยให้คืนเมื่อคดีถึงที่สุด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เงินจำนวน 4,810,862 บาท และเงินดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ 4 ฉบับ รวมเป็นเงิน 400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งชำรุดไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้พร้อมดอกผล ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.10 ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายบริการผู้โดยสารที่ 2 ส่วนบริการผู้โดยสาร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรวจค้นผู้คัดค้านสัญชาติแทนซาเนีย ซึ่งเดินทางมาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริเวณช่องตรวจผู้โดยสารไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) โซนซี อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ พบธนบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐฉบับละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 1,586 ฉบับ เป็นเงิน 156,800 ดอลลาร์สหรัฐ ฉบับละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 36 ฉบับ เป็นเงิน 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 158,600 ดอลลาร์สหรัฐ บรรจุในซองสีน้ำตาลซุกซ่อนอยู่ในถุงเท้าทั้งสองข้างที่ผู้คัดค้านสวมใส่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งข้อหาผู้คัดค้านว่า กระทำความผิดฐานส่ง หรือนำ หรือพยายามส่ง หรือนำ หรือช่วยเหลือ หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ หรือไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องในการส่ง หรือนำเงินตราต่างประเทศหรือธนบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศออกไปนอก หรือเข้ามาในประเทศไทยโดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงการคลัง หรือประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 เจ้าหน้าที่ประจำด่านยึดเงินดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดเงินดังกล่าวชั่วคราว และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เงินตราต่างประเทศดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า เงินตราต่างประเทศที่ถูกยึดไว้ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (7) ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงว่า เงินตราต่างประเทศที่ถูกยึดไว้พร้อมดอกผลเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้กระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ประเด็นเรื่องอื่นที่ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์โต้แย้งจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในชั้นนี้จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงว่า เงินตราต่างประเทศพร้อมดอกผลตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.10 เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตราต่างประเทศเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และวรรคสองบัญญัติว่า การส่งหรือนำ หรือพยายามส่งหรือนำ หรือช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของหรือการจับกุมผู้กระทำ การแสดงเท็จและการฟ้องร้องมาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าวรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง และมาตรา 8 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับ หรือจำคุก ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2550) ข้อ 10 บัญญัติว่า บุคคลใดนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อันมีมูลค่ารวมกันเกินจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศนั้นตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรในขณะที่ผ่านศุลกากรทุกแห่ง หรือเจ้าพนักงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านพรมแดน หรือช่องทางอื่นใดซึ่งใช้เป็นทางออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ เฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในขณะที่ผ่านด่านหรือช่องทางดังกล่าว โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้เปิดเสรีทางด้านการเงินและผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้ประชาชนสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศได้โดยไม่จำกัด ในบางครั้งจึงเกิดการลักลอบส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ จึงกำหนดมาตรการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเกินกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินตราต่างประเทศที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วถูกตรวจค้นจับกุม ลักษณะความผิดของผู้คัดค้านจึงเป็นเรื่องการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งหากผู้คัดค้านแจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศที่นำติดตัวเข้ามาต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรในขณะที่ผ่านศุลกากรก็จะไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติเช่นนี้เป็นการกำหนดหน้าที่ให้ปฏิบัติ หากฝ่าฝืนด้วยการงดเว้นไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีความผิดตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ เมื่อการกระทำความผิดของผู้คัดค้านเกิดจากการงดเว้นกระทำการตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เงินตราต่างประเทศของกลางจึงมิใช่เครื่องมือหรือทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้คัดค้านจะเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วยก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้ถือว่าเงินตราต่างประเทศเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายมาใช้บังคับเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจค้น การยึดและริบของกลาง หรือการจับกุมผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ โดยที่ลักษณะการกระทำความผิดของผู้คัดค้านยังคงเป็นเช่นเดิม กรณีจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทำให้เงินตราต่างประเทศที่ยึดไว้กลายเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เงินตราต่างประเทศตามคำร้องพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ด้วยเหตุเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (7) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้คืนเงินจำนวน 4,810,862 บาท และเงินดอลลาร์สหรัฐฉบับละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งชำรุดไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้พร้อมดอกผลตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.10 แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.124/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นาย ซ. (MR.M)

ชื่อองค์คณะ โสภณ พรหมสุวรรณ สมเจริญ พุทธิประเสริฐ สมชาย เงารุ่งเรือง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายปัญจพล เสน่ห์สังคม ศาลอุทธรณ์ - นางสาวอารีย์ ทัศนา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th