สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2566

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14, 15

จำเลยทั้งสามรับทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยชอบแล้วไม่มาศาล ในวันนัดทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปพิจารณาวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น หากศาลเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวิธีพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 และข้อ 13 ประกอบกับการสืบพยานโจทก์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งสามมาศาลในวันนัด จำเลยทั้งสามยังสามารถยื่นคำให้การ ถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานเข้าสืบในวันนัดได้ การที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์สืบพยานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันหนี้สินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคาร ท. วงเงินไม่เกิน 3,470,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารดังกล่าวในวงเงิน 5,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ ธนาคาร ท. ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4525/2559 ต่อมาธนาคาร ท. มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าว เป็นเงิน 3,470,000 บาท แล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากธนาคาร ท. ไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 จนถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์บางส่วนคงเหลือดอกเบี้ย 923,073.97 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 4,393,073.97 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเป็นสัดส่วนเท่าๆ กัน เป็นเงินคนละ 1,464,357.99 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่า กรณีมีเหตุต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความโดยแจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสามรับทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยชอบแล้วจำเลยทั้งสามต้องมาศาลตามกำหนดนัด แต่จำเลยทั้งสามไม่มาศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี เมื่อทนายโจทก์แถลงว่ายังไม่ได้รับสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ขอหมายเรียกจากธนาคาร ท. และเป็นเอกสารสำคัญ จึงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนคดีไปพิจารณาวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เช่นนี้ หากจำเลยทั้งสามมาศาลในวันนัดจำเลยทั้งสามย่อมทราบวันเวลาที่ศาลเลื่อนพิจารณาออกไปซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว ดังนี้กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการต่อมามีว่า การที่โจทก์มีคำร้องขอสืบพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบจอภาพ และศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ใช้วิธีพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จะชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น หากศาลเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวิธีพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 และข้อ 13 ประกอบกับการสืบพยานโจทก์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งสามมาศาลในวันนัด จำเลยทั้งสามยังสามารถยื่นคำให้การ ถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานเข้าสืบในวันนัดได้ แต่กลับเป็นจำเลยทั้งสามที่ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเสียเอง การที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์สืบพยานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ล.29/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บรรษัท ป. จำเลย - บริษัท อ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ เดชา อัชรีวงศ์ไพศาล วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ อำนวย โอภาพันธ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลล้มละลายกลาง - นางสาวทิพนที ลิ้มธนากุล

  • นายพูนศักดิ์ เข็มแซมเกษ
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th