คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234 - 5238/2566
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163, 164 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ม. 14 (2)
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) ระบุว่าในคดีอาญาพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ประกอบกับการมีคำสั่งมอบหมายของอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นพนักงานแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลที่รับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลย หาต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตัวแทน ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องในคดีที่จำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยระบุว่า อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 รับผิดชอบฟ้องคดีและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163 และ 164 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท (ผ) 8/2560 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนและสำนวนดังกล่าวว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสามสิบในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 30 เรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 31 และที่ 32 เรียกจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท (ผ) 8/2560 ว่า จำเลยที่ 33 เรียกจำเลยในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 34 เรียกจำเลยในสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 35 และเรียกจำเลยในสำนวนที่ห้าว่า จำเลยที่ 36 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 33 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีห้าสำนวนนี้
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 30 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 31 และที่ 32 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และนับโทษของจำเลยที่ 31 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.367/2556 ของศาลจังหวัดมุกดาหาร
สำนวนที่สาม โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 34 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
สำนวนที่สี่ โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 35 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
สำนวนที่ห้า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 36 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
จำเลยทั้งสามสิบหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 31 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 และที่ 33 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 20 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 20 และที่ 33 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 และที่ 33 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.11 ถึงข้อ 1.17 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 33 คนละกระทงละ 1 ปี จำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 3 กระทำความผิดรวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 กระทำความผิดรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 8 กระทำความผิดรวม 6 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 9 กระทำความผิดรวม 6 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 10 กระทำความผิดรวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 33 กระทำความผิดรวม 6 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 20 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำความผิดรวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน เป็นจำคุก 32 เดือน ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.18 ถึงข้อ 1.69 เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 และที่ 33 คนละกระทงละ 5 ปี จำเลยที่ 1 กระทำผิดรวม 49 กระทง เป็นจำคุก 245 ปี จำเลยที่ 2 กระทำผิดรวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี จำเลยที่ 3 กระทำผิดรวม 41 กระทง เป็นจำคุก 205 ปี จำเลยที่ 4 กระทำผิดรวม 36 กระทง เป็นจำคุก 180 ปี จำเลยที่ 5 กระทำผิดรวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิดรวม 30 กระทง เป็นจำคุก 150 ปี จำเลยที่ 7 กระทำผิดรวม 44 กระทง เป็นจำคุก 220 ปี จำเลยที่ 8 กระทำผิดรวม 19 กระทง เป็นจำคุก 95 ปี จำเลยที่ 9 กระทำผิดรวม 27 กระทง เป็นจำคุก 135 ปี จำเลยที่ 10 กระทำผิดรวม 19 กระทง เป็นจำคุก 95 ปี จำเลยที่ 11 กระทำความผิดรวม 1 กระทง จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 12 กระทำความผิดรวม 1 กระทง จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 33 กระทำผิดรวม 31 กระทง เป็นจำคุก 155 ปี และจำเลยที่ 20 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 20 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 32 กระทง เป็นจำคุก 96 ปี 128 เดือน รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 252 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 35 ปี จำเลยที่ 3 มีกำหนด 212 ปี จำเลยที่ 4 มีกำหนด 187 ปี จำเลยที่ 5 มีกำหนด 20 ปี จำเลยที่ 6 มีกำหนด 152 ปี จำเลยที่ 7 มีกำหนด 220 ปี จำเลยที่ 8 มีกำหนด 101 ปี จำเลยที่ 9 มีกำหนด 141 ปี จำเลยที่ 10 มีกำหนด 100 ปี จำเลยที่ 11 มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 12 มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 33 มีกำหนด 161 ปี และจำเลยที่ 20 มีกำหนด 96 ปี 160 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 20 และที่ 33 ทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 20 และที่ 33 มีกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 13 ถึงที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 32 และที่ 34 ถึงที่ 36 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 20 และที่ 33 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 13 และที่ 33 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 151 ประกอบมาตรา 86 และเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 12 และที่ 33 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ด้วย จำเลยที่ 20 ถึงที่ 31 และที่ 36 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, 151 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยที่ 34 และที่ 35 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, 151 ประกอบมาตรา 86
จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 52 กระทง เป็นจำคุก 260 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 330 ปี กรณีนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กำหนดให้โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกว่า 50 ปี จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 50 ปี
จำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 40 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 19 กระทง เป็นจำคุก 95 ปี ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี เมื่อรวมกับโทษทุกกระทงแล้วจำคุก 170 ปี กรณีนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กำหนดให้โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกว่า 50 ปี จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 50 ปี
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 และที่ 33 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 12 และที่ 13 กระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 3 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี 40 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี 40 เดือน จำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 21 ปี 28 เดือน จำเลยที่ 8 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 24 ปี 32 เดือน จำเลยที่ 9 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 10 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 11 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 33 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 27 ปี 36 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 3 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 16 กระทง เป็นจำคุก 48 ปี 64 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 25 กระทง เป็นจำคุก 75 ปี 100 เดือน จำเลยที่ 5 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 12 กระทง เป็นจำคุก 36 ปี 48 เดือน จำเลยที่ 7 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 8 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 12 กระทง เป็นจำคุก 36 ปี 48 เดือน จำเลยที่ 9 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 17 กระทง เป็นจำคุก 51 ปี 68 เดือน จำเลยที่ 10 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 15 กระทง เป็นจำคุก 45 ปี 60 เดือน จำเลยที่ 13 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 33 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 35 กระทง เป็นจำคุก 105 ปี 140 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 3 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 40 กระทง เป็นจำคุก 200 ปี จำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 19 กระทง เป็นจำคุก 95 ปี จำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 20 กระทง เป็นจำคุก 100 ปี จำเลยที่ 7 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 41 กระทง เป็นจำคุก 205 ปี จำเลยที่ 8 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 70 ปี จำเลยที่ 9 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 15 กระทง เป็นจำคุก 75 ปี จำเลยที่ 10 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 50 ปี จำเลยที่ 11 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 12 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 33 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำเลยที่ 3 เป็นจำคุก 278 ปี 104 เดือน จำเลยที่ 4 เป็นจำคุก 200 ปี 140 เดือน จำเลยที่ 5 เป็นจำคุก 15 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 6 เป็นจำคุก 157 ปี 76 เดือน จำเลยที่ 7 เป็นจำคุก 214 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 8 เป็นจำคุก 130 ปี 80 เดือน จำเลยที่ 9 เป็นจำคุก 132 ปี 76 เดือน จำเลยที่ 10 เป็นจำคุก 101 ปี 68 เดือน จำเลยที่ 11 เป็นจำคุก 11 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 12 เป็นจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 13 เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 33 เป็นจำคุก 137 ปี 176 เดือน กรณีจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 33 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กำหนดให้โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกว่า 50 ปี จึงลงโทษจำคุกคนละ 50 ปี
จำเลยที่ 20 ถึงที่ 23 ที่ 25 ถึงที่ 28 ที่ 31 และที่ 34 ถึงที่ 36 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 24 ที่ 29 และที่ 30 กระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 20 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 24 ปี 32 เดือน จำเลยที่ 21 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 31 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 34 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 21 ปี 28 เดือน จำเลยที่ 35 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 20 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 31 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 34 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 35 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 20 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 37 กระทง เป็นจำคุก 111 ปี 148 เดือน จำเลยที่ 21 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 22 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 24 ปี 32 เดือน จำเลยที่ 23 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 24 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 25 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 26 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 27 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 28 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 29 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 30 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 31 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 1 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 36 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำเลยที่ 20 จำคุก 150 ปี 200 เดือน แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กำหนดให้โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกว่า 50 ปี จึงลงโทษจำเลยที่ 20 จำคุก 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 21 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 22 จำคุก 24 ปี 32 เดือน จำเลยที่ 23 จำคุก 15 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 24 จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 25 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 26 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 27 จำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 28 จำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 29 จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 30 จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 31 จำคุก 15 ปี 20 เดือน นับโทษของจำเลยที่ 31 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ อ.367/2556 ของศาลจังหวัดมุกดาหาร จำเลยที่ 34 จำคุก 24 ปี 32 เดือน จำเลยที่ 35 จำคุก 9 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 36 จำคุก 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างฎีกา จำเลยที่ 13 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 13 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 12 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 26 ถึง 31 และที่ 34 ถึงที่ 36 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 12 และที่ 20 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 7 ที่ 9 ที่ 20 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 28 และที่ 31 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 7 ที่ 9 ที่ 20 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 28 และที่ 31 เสียจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมบรรยายฟ้องขัดแย้งกันเอง และไม่ได้บรรยายองค์ประกอบความผิดโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 หรือไม่ เห็นว่า ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีนี้ ข้อ 9 วรรคแรก กำหนดว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและต้องมีข้อความเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ และวรรคสองกำหนดว่า กรณีที่ศาลเห็นว่า ฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการสั่งซื้อพัสดุโดยมิชอบอาศัยโอกาสที่ตนมีอำนาจในการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง ได้ใช้อำนาจโดยทุจริต โดยแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยอื่นซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 8 จะมิได้มีหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนจำเลยที่ 8 กระทำความผิดฐานตัวการและผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 83 และ 86 กรณีจึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องเป็นหนังสือและมีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง จึงถือได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ได้ขัดแย้งกันเอง และบรรยายครบองค์ประกอบความผิดโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2556 ข้อ 9 วรรคแรกแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 8 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 ข้อต่อไปมีว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายปราบปรามการทุจริต 1 โจทก์ มีอำนาจฟ้องและใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งใช้บังคับแก่การพิจารณาคดีนี้ ข้อ 3 ให้ความหมายของคำว่าโจทก์ หมายความว่า อัยการสูงสุด ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมโดยใช้ระบบไต่สวนเท่านั้น ดังนี้ จึงไม่อาจนำความหมายของคำว่า โจทก์ ซึ่งหมายความว่า อัยการสูงสุด มาเป็นข้อพิจารณาถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ซึ่งการพิจารณาว่าผู้ใดมีอำนาจฟ้องคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดีนี้ โดยมาตรา 97 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีความผิดทางอาญา ให้ประธานกรรมการส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด หรือฟ้องคดีต่อศาลกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยให้ถือว่ารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษากับจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยแยกเป็นกรรมหรือกลุ่มของการกระทำความผิดเพื่อสะดวกในการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 97 ตามมติการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 433-91/2555 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แก้ไขเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 438/2556 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 เช่นนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวอัยการสูงสุดจึงเป็นผู้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) บัญญัติว่า พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ประกอบกับการมีคำสั่งมอบหมายของอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ซึ่งเป็นพนักงานแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลรับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 ต่อศาลอาญานั้น หาจำต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตัวแทนแต่อย่างใด ดังนั้น การที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 เท่ากับอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ฟ้องจำเลยดังกล่าวแล้ว ซึ่งอำนาจฟ้องคดีนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย พนักงานอัยการสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องในคดีที่ฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยระบุว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5) รับผิดชอบฟ้องและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด จึงมิใช่เป็นการขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 และ 164 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ฎีกาจำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 151 และมาตรา 157 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้บังคับภายหลังกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 26 ที่ 28 ที่ 31 ที่ 33 ถึงที่ 35 จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 26 ที่ 28 ที่ 31 ที่ 33 ถึงที่ 35 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และศาลอุทธรณ์ไม่ได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 และที่ 33 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 และที่ 33 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 86 และเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 12 และที่ 33 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย จำเลยที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 31 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยที่ 35 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 26 ที่ 28 ที่ 31 ที่ 33 และที่ 35 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 21 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 34 และที่ 36 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อท.15-19/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นางสาว ป. หรือนางสาว ภ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ อดิศักดิ์ ตันติวงศ์ กัมปนาท วงษ์นรา นพรัตน์ ชลวิทย์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง - นายพลีส เทอดไทย ศาลอุทธรณ์ - นายก่อเกียรติ เอี่ยมบุตรลบ