คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5274/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713
แม้การจดทะเบียนหย่าจะทำให้ผู้คัดค้านที่3มิใช่ทายาทของผู้ตายแต่เมื่อผู้คัดค้านที่3ยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายผู้คัดค้านที่3จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713 กฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกเพียงแต่บังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอและจะขอให้ศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกก็ต้องให้ผู้นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้ให้การรับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรแล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายมีทรัพย์สินเป็นมรดกหลายรายการแต่ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้และมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายได้ให้การรับรองแล้วว่าเป็นบุตร ผู้ร้องมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมมีพฤติการณ์ที่จะยักยอกทรัพย์มรดก ไม่สมควรที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3เป็นภรรยาของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์โดยผู้ตายได้ให้การรับรองแล้วว่าผู้คัดค้านที่ 4เป็นบุตร ระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาผู้คัดค้านที่ 3 และผู้ตายได้ทำมาหากินร่วมกันและมีทรัพย์สินร่วมกันหลายรายการ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 ครึ่งหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 คัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และตั้งผู้คัดค้านที่ 3แต่เพียงผู้เดียว เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่ โดยผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ฎีกามาเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 3หย่าขาดกับผู้ตายแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 4 ไม่ชอบ เพราะศาลชั้นต้นมิได้แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก สิทธิดังกล่าวมิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและยุติแล้ว เพราะผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้อุทธรณ์ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่าการร้องขอจัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 3 นั้นผู้คัดค้านที่ 3ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3เป็นผู้จัดการมรดกเอง อ้างว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกเพราะได้อยู่กินด้วยกันกับผู้ตายฉันสามีภรรยาและมีทรัพย์ที่ทำมาหาได้ด้วยกัน แม้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้ตายเคยจดทะเบียนหย่า แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าหลังจากหย่ากันแล้วผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้ตายยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนผู้ตายถึงแก่ความตายและได้ความจากผู้คัดค้านที่ 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 3และผู้ตายทำมาหากินร่วมกันจนมีทรัพย์สินหลายรายการ ถือว่าทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และผู้ตายมีทรัพย์ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน แม้การจดทะเบียนหย่าจะทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 มิใช่ทายาทของผู้ตายแต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย กรณีเช่นนี้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ส่วนคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ร้องขอโดยผู้คัดค้านที่ 3 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมทำการแทน โดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น กรณีเช่นนี้เป็นสิทธิของผู้คัดค้านที่ 4 ที่จะขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติบังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก เพียงแต่บังคับว่าผู้ยื่นคำร้องจะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอและขอให้ศาลตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกก็ต้องให้ผู้นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้และการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัว มิใช่ศาลจะสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 4 ได้โดยเฉพาะคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 4 และขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์จึงได้วินิจฉัยถึงสิทธิในการร้องขอของผู้คัดค้านที่ 4 ว่ามีสิทธิหรือไม่เพียงใด และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุคคลที่สมควรจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุผลในการพิพากษา และการตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลอุทธรณ์มิได้ตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 4 ตามที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาประเด็นที่ยุติแล้วในศาลชั้นต้นมาวินิจฉัยหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาย เฉลิมพล อุทัยเฉลิม ผู้คัดค้าน - นางสาว พัชรินทร์ อุทัยเฉลิม กับพวก
ชื่อองค์คณะ ก้าน อันนานนท์ อัครวิทย์ สุมาวงศ์ อำนวย หมวดเมือง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan