คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2567
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (9), 9 (3)
จำเลยเบิกเงินจากโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของสวนแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ จากนั้นจึงหักทอนบัญชีกัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทเป็นเอกเทศสัญญาไว้ใน ป.พ.พ. แต่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องชำระหนี้ต่อกันตามสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องมาว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่บังคับกันได้ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ซึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องนำหนี้ดังกล่าวไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อรายการตัดทอนบัญชีระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้พับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางสาวทัศนีย์และนายปิยะราชเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยขอเบิกเงินจากโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของแปลงไม้ติดต่อกันหลายครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนธันวาคม 2562 โดยจำเลยจะเป็นผู้จัดหาแปลงไม้ยางพาราและประเมินราคาด้วยตนเอง จากนั้นจะนำมาเสนอโจทก์เพื่อขออนุมัติเงิน หากโจทก์มีคำสั่งอนุมัติ โจทก์จะส่งมอบเงินมัดจำส่วนแรกให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เพื่อให้จำเลยนำไปวางมัดจำกับเจ้าของสวนยางพารา ก่อนตัดโค่นไม้ยางพาราโจทก์จะส่งมอบเงินค่าไม้ยางพาราส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยลงชื่อรับเงินอีกครั้ง จำเลยจะตัดโค่นไม้ยางพาราเองและนำไม้ที่ได้มาขายให้แก่โจทก์แล้วหักกลบลบหนี้กันโดยวิธีตัดทอนทางบัญชี จำเลยมิได้ซื้อไม้ยางพาราในฐานะตัวแทนของโจทก์ ซึ่งคำเบิกความของนางสาวทัศนีย์และนายปิยะราชดังกล่าวล้วนสอดคล้องกับรายการตัดทอนบัญชี สัญญามัดจำหรือสัญญาซื้อขายไม้ยางพาราและใบชั่งน้ำหนัก ซึ่งระบุชื่อจำเลยว่าเป็นลูกหนี้โจทก์ ทั้งมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ขอเบิก จำนวนหนี้คงเหลือและการชั่งน้ำหนักไม้ที่จำเลยนำมาขายให้แก่โจทก์ซึ่งสามารถคิดคำนวณได้ว่า ณ วันฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด ทั้งรายการตัดทอนบัญชีมีลายมือชื่อของจำเลยกำกับไว้เกือบทุกรายการที่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี ประกอบกับจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่า ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อในรายการตัดทอนบัญชีเพื่อรับทราบเท่านั้น เมื่อพิจารณาว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุชัดเจนว่า ณ วันที่จำเลยลงลายมือชื่อจำเลยมีภาระหนี้คงเหลือต่อโจทก์เท่าใด ก่อนลงลายมือชื่อจำเลยย่อมต้องคาดหมายแล้วว่าเอกสารดังกล่าวอาจผูกมัดจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ นอกจากนี้หากจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์จริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องลงลายมือชื่อยอมรับว่ามีภาระหนี้คงเหลือต่อโจทก์ ทั้งการลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวยังขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงยิ่งไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยต้องลงลายมือชื่อรับทราบภาระหนี้คงเหลือในรายการตัดทอนบัญชี เพราะจำเลยย่อมไม่มีภาระหนี้หรือความรับผิดต่อโจทก์ หากการซื้อขายไม้ยางพารากับเจ้าของสวนกระทำในฐานะตัวแทนโจทก์ดังที่จำเลยอ้าง และที่จำเลยแก้ฎีกาว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อครบทุกรายการในเอกสารดังกล่าว และหลายรายการในหน้าที่ 68 และ 69 เป็นลายมือชื่อของบุคคลอื่นนั้น เมื่อพิจารณารายการตัดทอนบัญชีแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ลงลายมือชื่อในบางรายการ แต่การที่จำเลยลงลายมือชื่อในรายการต่อ ๆ มา ซึ่งมีรายการยอดคงเหลือที่รวมรายการก่อนหน้านั้นไว้ด้วยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่ารายการก่อนหน้าและยอดคงเหลือถูกต้อง ส่วนที่หลายรายการในหน้าที่ 68 และ 69 ที่เป็นลายมือชื่อของบุคคลอื่นนั้น เป็นรายการเงินคืนที่ทำให้ยอดคงเหลือลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลย และเนื่องจากหัวกระดาษในแต่ละหน้าของรายการตัดทอนบัญชีดังกล่าวมีการระบุชื่อจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อาจรับฟังว่าบุคคลอื่นลงลายมือชื่อให้ผูกพันตนเองดังที่จำเลยแก้ฎีกา รายการตัดทอนบัญชีจึงมีข้อความเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์และมีภาระหนี้เงินคงค้างต่อกันเท่าใด พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยเบิกเงินโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของสวนแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ จากนั้นจึงหักทอนบัญชีกันตามรายการหักทอนบัญชี นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทเป็นเอกเทศสัญญาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องชำระหนี้ต่อกันตามสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องมาว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่บังคับกันได้ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ซึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้ ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่าโจทก์ไม่เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งมาก่อน แต่กลับนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ตามกระบวนวิธีพิจารณาคดีแพ่งทั่วไป นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ และในการพิจารณาคดีล้มละลายจำเลยก็สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับในการพิจารณาคดีแพ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องนำหนี้ดังกล่าวไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อรายการตัดทอนบัญชีระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า หนี้ตามฟ้องยังมีข้อโต้แย้ง โจทก์จึงยังไม่อาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ และมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยก่อน เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ซึ่งจำเลยนำสืบเพียงว่า จำเลยมีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งและมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 70,000 บาท แต่จำเลยไม่มีเอกสารใดมายืนยันว่ามีรายได้ดังกล่าวจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดอีก ข้อนำสืบของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่ปรากฏว่าจำเลยขวนขวายพยายามชำระหนี้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ล.23/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ม. จำเลย - นาย ว.
ชื่อองค์คณะ ธีระพล ศรีอุดมขจร วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ เผด็จ ชมพานิชย์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลล้มละลายกลาง - นางสาวทิพนที ลิ้มธนากุล ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ - นายสถาพร วิสาพรหม