คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2564
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไปหาผู้ร้องและหยิบอาวุธปืนของกลางออกมาเพื่อใช้ซ้อมยิงปืนในค่ายทหารซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเลยกระทำอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากนั้นจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาใช้ก่อเหตุ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดกวดขันในการอนุญาตให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่จำเลยสามารถหยิบอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าววัตถุประสงค์ให้ผู้ร้องทราบก่อน ย่อมแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลาง
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 ริบอาวุธปืนกับกระสุนปืนที่เหลือจากการทดลองยิง ลูกกระสุนปืน (ตะกั่ว) และปลอกกระสุนปืนของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า จำเลยกับผู้ร้องต่างเป็นบุตรของนายวิรัตน์ เดิมนายวิรัตน์ เป็นเจ้าของอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ ขนาด .38 เครื่องหมายทะเบียน นศ.8/7854 ต่อมานายวิรัตน์ ได้ถึงแก่กรรม ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของกลาง โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยและให้ริบอาวุธปืนของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของอาวุธปืนของกลางแท้จริงหรือไม่ เห็นว่า อาวุธปืนของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวิรัตน์ มาแต่เดิม ครั้นนายวิรัตน์ ถึงแก่กรรม อาวุธปืนของกลางย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายวิรัตน์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคแรก และมาตรา 1600 แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกของนายวิรัตน์ เพื่อแบ่งให้แก่ทายาททุกคนที่มีสิทธิได้รับมรดกก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านับแต่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ แล้วผู้ร้องได้ดำเนินการขอนายทะเบียนท้องที่ให้ออกใบอนุญาตใหม่เพื่อโอนอาวุธปืนของกลางให้แก่จำเลย หรือทายาททุกคนยินยอมให้อาวุธปืนของกลางตกเป็นของจำเลย ทั้งจำเลยก็มิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีและใช้อาวุธปืน ประกอบกับได้ความตามที่ผู้ร้องเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ อาวุธปืนของกลางถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านของผู้ร้อง ซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยและผู้ร้องให้การไว้ในชั้นสอบสวน อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องยังมิได้ส่งมอบการครอบครองอาวุธปืนของกลางให้แก่จำเลยอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า อาวุธปืนของกลางยังคงเป็นทรัพย์มรดกของนายวิรัตน์ ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกยังจัดการแบ่งให้แก่ทายาททั้งหลายของนายวิรัตน์ ไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอาวุธปืนของกลางในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัตน์ อันเป็นการครอบครองแทนทายาททุกคนของนายวิรัตน์ ซึ่งรวมถึงผู้ร้องด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของอาวุธปืนของกลางและไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลางนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเพียงแต่อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า ผู้ร้องได้รับแจ้งจากจำเลยว่าจำเลยเข้าไปหยิบอาวุธปืนของกลางจากภายในห้องนอนของนางสาว น.นพวรรณ์ น้องสาวผู้ร้องซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับผู้ร้อง และเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ผู้ร้องให้นางสาว น.นพวรรณ์ เก็บรักษาอาวุธปืนของกลางไว้ภายหลังจากที่จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตแล้ว แต่ผู้ร้องกลับให้การในชั้นสอบสวนว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ร้องอยู่ที่บ้านจังหวัดนครศรีธรรมราชและได้มอบอาวุธปืนของกลางให้จำเลยเก็บรักษาไว้ ผู้ร้องมาทราบภายหลังเกิดเหตุว่า จำเลยไปหาเพื่อนที่จังหวัดพังงาและนำอาวุธปืนของกลางไปด้วย โดยปกติแล้วจำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ซ้อมยิงที่ค่ายทหารในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเห็นว่าผู้ร้องให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่นาน น่าเชื่อว่าผู้ร้องไม่มีเวลาคิดเสริมแต่งเหตุการณ์ให้ผิดไปจากความเป็นจริง แต่เป็นการให้การต่อพนักงานสอบสวนไปตามความสมัครใจด้วยความสัตย์จริง สอดคล้องกับที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไปหาผู้ร้องและหยิบอาวุธปืนของกลางออกมาเพื่อใช้ซ้อมยิงปืนในค่ายทหารซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเลยกระทำอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากนั้นจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาใช้ก่อเหตุ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดกวดขันในการอนุญาตให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่จำเลยสามารถหยิบอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าววัตถุประสงค์ให้ผู้ร้องทราบก่อน ย่อมแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยผล ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2234/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า ผู้ร้อง - นางสาว น. จำเลย - นาย อ.
ชื่อองค์คณะ ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล สิทธิโชติ อินทรวิเศษ ณรงค์ กลั่นวารินทร์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดตะกั่วป่า - นายพรเทพ ศรีสว่าง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายทนงศักดิ์ เที่ยงสุทธิสกุล