สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 175, 177, 865 วรรคสอง

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 โมฆียะกรรมในนิติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดถูกฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ รวมถึงบุคคลวิกลจริต และบัญญัติให้มีสิทธิบอกล้างได้ และตามมาตรา 177 ยังบัญญัติว่าอาจให้สัตยาบันเพื่อให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกได้ จึงชี้ชัดว่าโมฆียะกรรมไม่ใช่บทบังคับให้นิติกรรมเสียไปเลยเป็นโมฆะกรรม แต่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาที่แสดงเจตนาทราบเหตุแห่งโมฆียะกรรมแล้วยังคงประสงค์ที่จะให้นิติกรรมดังกล่าวนั้นมีผลบังคับหรือไม่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ใช่บทบัญญัติเคร่งครัดและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมโดยแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง ได้ กรณีที่สมาชิกผู้เอาประกันไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จ บริษัทจะบอกล้างสัญญาภายในหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญา ทั้งตามเอกสารหมาย ล.6 ส่วนที่ 3 ข้อกำหนดทั่วไปข้อที่ 2 ระบุว่าบริษัทจะไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยที่มีผลบังคับมาเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ สัญญาจึงมีผลผูกพันผู้ตายกับจำเลย จำเลยไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกล้างเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาประกันชีวิตยังคงมีผลสมบูรณ์ต่อไปตามที่จำเลยรับทำประกันและออกสัญญาประกันชีวิตให้ กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตเป็นเงิน 3,582,730 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาประกันชีวิตมีผลสมบูรณ์ ให้จำเลยชำระเงิน 3,280,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับเงินที่โจทก์ที่ 2 ได้รับต้องนำไปชำระหนี้ที่นายพรชัย ผู้ตายค้างชำระธนาคาร ย. หากมีเหลือโจทก์ที่ 2 ได้รับร้อยละ 70 และนางสาวอรพิน ได้รับร้อยละ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยในศาลชั้นต้นที่โจทก์ที่ 2 ได้รับยกเว้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ที่ 2 และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ผู้ตายได้สมัครทำประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อกับจำเลยโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จำเลยพิจารณาใบคำขอเอาประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อของผู้ตายแล้วได้รับทำประกันชีวิตและออกกรมธรรม์ให้กับผู้ตายเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่มคุ้มครองสินเชื่อระยะเวลาเอาประกันภัย 15 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 ครบกำหนดวันที่ 14 มกราคม 2574 จำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองชีวิตและทุพพลภาพสูงสุด 3,378,000 บาท โดยจำนวนเงินเอาประกันภัยหลักจะลดลงตามที่ได้แสดงไว้ในตารางจำนวนเงินเอาประกันภัย ผู้ตายได้ชำระเบี้ยประกันภัยแบบครั้งเดียวครบถ้วนแล้วเป็นเงิน 271,355 บาท ผู้รับประโยชน์หลักตามเงื่อนไขของกรมธรรม์คือธนาคาร ย. เท่ากับจำนวนหนี้ที่ผู้ตายค้างชำระ หากมีเหลือให้จ่ายแก่โจทก์ที่ 2 ในอัตรารับผลประโยชน์ร้อยละ 70 และลำดับสามนางสาวอรพิน รับผลประโยชน์ร้อยละ 30 ตามสำเนาหนังสือรับรองการประกันชีวิตและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.6 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจจากการสำลักอาหารลงปอด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 จำเลยได้รับประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ตายจากโรงพยาบาล ว. พบว่าผู้ตายมีประวัติป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและได้เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวก่อนทำประกันชีวิตกับจำเลย และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลยได้แจ้งบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ที่ 2 และนางสาวอรพิน โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายได้แสดงข้อความโดยปกปิดข้อความจริงที่เกี่ยวกับสุขภาพซึ่งเป็นสาระสำคัญในช่วงก่อนและระหว่างการทำสัญญาประกันภัยต่อจำเลย ทำให้สัญญาประกันภัยดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงบอกล้างโมฆียะกรรมตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวพร้อมทั้งคืนเบี้ยประกันจำนวน 271,355 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคตีความบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง คลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 โมฆียะกรรมในนิติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด ถูกฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ รวมถึงบุคคลวิกลจริต และบัญญัติให้มีสิทธิบอกล้างได้ กับทั้งตามมาตรา 177 ยังบัญญัติว่าอาจให้สัตยาบันเพื่อให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกได้ จึงชี้ชัดว่าโมฆียะกรรมไม่ใช่บทบังคับให้นิติกรรมเสียไปเลยเป็นโมฆะกรรม แต่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาที่แสดงเจตนาทราบเหตุแห่งโมฆียะกรรมแล้วยังคงประสงค์ที่จะให้นิติกรรมดังกล่าวนั้นมีผลบังคับหรือไม่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ใช้บังคับเคร่งครัดและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการบอกล้างโมฆียกรรม โดยแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ได้ เมื่อตามสำเนาหนังสือรับรองการประกันชีวิต ข้อ 2.4.1 ระบุว่า กรณีที่สมาชิกผู้เอาประกันภัยไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จ บริษัทจะบอกล้างสัญญาภายในหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญา ทั้งตามเอกสารหมาย ล.6 ส่วนที่ 3 ข้อกำหนดทั่วไปข้อที่ 2 ระบุว่าบริษัทจะไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยที่มีผลใช้บังคับมาเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ สัญญาจึงมีผลผูกพันผู้ตายและจำเลย จำเลยไม่อาจใช้สิทธิบอกล้างเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เนื่องจากระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี… และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี… และพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตอันเป็นหนี้เงินแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ที่ 2 แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ที่ 2 ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,280,950 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ที่ 2 แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ที่ 2 ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)191/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อ. กับพวก จำเลย - บริษัท พ.

ชื่อองค์คณะ รังสรรค์ กุลาเลิศ ประทีป อ่าววิจิตรกุล สมเกียรติ ตั้งสกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นางสาวบังเอิญ เนียมศรี ศาลอุทธรณ์ - นายกำพล ษมาคุณากร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE