คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5561/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1236, 1246 (6) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
บริษัท พ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเองซึ่งทำถูกต้องตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 แล้วกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าในทะเบียนตามเดิมได้ เพราะกรณีตามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการถอนทะเบียนบริษัทร้างดังนั้น จึงไม่อาจสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัท พ. ได้
ผู้ร้องทั้งเจ็ดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งเจ็ดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัด จำนวน 1,072,725 บาทเมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2526 ถึงเดือนมิถุนายน 2527กรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกับผู้ชำระบัญชีจัดทำหลักฐานเท็จจนเป็นเหตุให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2527 โดยมีการแบ่งปันเงินที่เหลือจากการชำระบัญชีจำนวน 1,392,638 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้ชำระบัญชีไปแล้ว ทำให้ผู้ร้องทั้งเจ็ดไม่สามารถบังคับคดีได้ ขอให้มีคำสั่งว่า งบดุล ณ วันเลิกบริษัทการประชุมเลิกบริษัทและการชำระบัญชีเป็นโมฆะ ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัทและให้ถือว่าบริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัด ยังคงมีอยู่เพื่อผู้ร้องทั้งเจ็ดจะใช้สิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การทำงบดุล การประชุมเลิกบริษัทการชำระบัญชีและการจดทะเบียนเลิกบริษัทถูกต้องตามกฎหมายไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนเลิกบริษัทเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เพิกถอนได้แต่เพื่อเป็นการยุติธรรมในอันที่จะให้ผู้ร้องทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับคดีได้ จึงมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อบริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัดกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อให้ผู้ร้องทั้งเจ็ดทำการบังคับคดีต่อไปคำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งเจ็ด
ผู้ร้องทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้องทั้งเจ็ดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทพรไพโรจน์ขนส่งจำกัด ในมูลหนี้ละเมิด ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งบริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่9 มกราคม 2527 ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน2528 ให้บริษัทดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งเจ็ดซึ่งเป็นโจทก์เป็นเงิน 952,725 บาท ผู้ร้องทั้งเจ็ดอุทธรณ์ขอค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งเจ็ดเพิ่มขึ้นอีก 120,000 บาท คดีถึงที่สุด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องทั้งเจ็ดฎีกาข้อแรกว่าการจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อมีเจตนาเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเองซึ่งก็ถูกต้องตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1236 แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1246(6) ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าในทะเบียนตามเดิมได้ดังที่ผู้ร้องทั้งเจ็ดฎีกา เพราะกรณีตามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการถอนทะเบียนบริษัทร้าง ดังนั้น จึงไม่อาจสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัทพรไพโรจน์ขนส่ง จำกัด ได้
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง สุด ใจ สอน เจริญ กับพวก ผู้คัดค้าน - พันจ่าอากาศเอก เกษม แสง เดือน ผู้ชำระบัญชี
ชื่อองค์คณะ สถิตย์ ไพเราะ บุญธรรม อยู่พุก ประกาศ บูรพางกูร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan