สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5754/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5754/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26

คำฟ้องโจทก์ระบุโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่2ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่1ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนฯพ.ศ.2531โดยระบุเน้นให้รู้ว่าในขณะนั้นจำเลยที่2ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจำเลยที่1คำฟ้องโจทก์มิได้บ่งบอกว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่2ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวแต่ประการใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่1 ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในทำเลที่เจริญการคมนาคมสะดวกสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เพียงตารางวาละ10,000บาทย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ผู้ต้องถูกเวนคืนที่ดินไปทั้งแปลงที่ศาลล่างกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ10,000บาทนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่1และที่2ต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา26วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามคำขอของโจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวมีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจะนำมาตรา224แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางหลวงเทศบาล โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 1,418,000 บาท โจทก์เห็นว่าโจทก์ควรได้รับเพิ่มอีก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน12,469,537 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน9,926,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นเงิน 2,836,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 มาตรา 4 ซึ่งออกตามความในมาตรา 6(2) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 บัญญัติให้ผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนโดยตำแหน่ง มิใช่เป็นโดยตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดประกอบกับจำเลยที่ 2 มิได้มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนตามกฎหมายและมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ่ายเงินค่าทดแทนแม้จำเลยที่ 2 จะเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531มีผลใช้บังคับก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วยนั้นเห็นว่า คำฟ้องโจทก์ระบุโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ. 2531 โดยระบุเน้นให้รู้ว่าในขณะนั้นจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์มิได้บ่งบอกว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวแต่ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ปัญหานี้ก็ฟังไม่ขึ้น

ในปัญหาเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มอีกตารางวาละ 10,000 บาท เป็นตารางวาละ 20,000 บาทเพราะที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจะต้องถือเกณฑ์ราคาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ใช้อยู่ในปี 2531 ถึงปี 2534 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์ผู้มีภาระการพิสูจน์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินของบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 มีผลใช้บังคับตารางวาละเท่าไร จึงต้องถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ใช้อยู่ในปี 2531 ถึงปี 2534 เป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 1และที่ 2 นำสืบนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีนางสาวภัทรินทร์อยู่สุทธิผู้ซึ่งมีที่ดินและบ้านอยู่ในซอยประดู่ 1 ใกล้กับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนโดยอยู่เยื้องคนละฝั่งถนนกับที่ดินของโจทก์ห่างจากที่ดินโจทก์ประมาณ 200 เมตร เบิกความสนับสนุนได้ความว่าเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2531 นางสาวภัทรินทร์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาในราคาประมาณตารางวาละ 20,000 บาท ปรากฎตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.33 โดยขณะที่ซื้อมาที่ดินดังกล่าวมิได้อยู่ติดถนนสาธารณะแต่อย่างใดนั่นก็หมายถึงว่าโจทก์นำสืบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2531 ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯพ.ศ. 2531 ใช้บังคับ ที่ดินในซอยประดู่ 1 ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนและเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ติดถนนสาธารณะ มีการซื้อขายกันในท้องตลาดทั่วไปราคาประมาณตารางวาละ 20,000 บาทและยิ่งกว่านั้นโจทก์มีนางจิตรา ศกุนะสิงห์ ผู้มีที่ดินอยู่ในซอยประดู่ 1 จำนวน 2 แปลง เช่นกัน เบิกความว่า เมื่อปี 2526จำเลยที่ 1 เวนคืนที่ดินของพยานทั้งสองแปลงเพื่อตัดถนนเจริญกรุง 2จำเลยที่ 1 ให้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่พยานเฉพาะส่วนที่ติดถนนและนับจากถนนเข้าไป 20 เมตร ตารางวาละ 20,000 บาทที่ดินส่วนที่อยู่เกิน 20 เมตร จากนั้นจำเลยที่ 1 คิดราคาเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ 8,000 บาท พยานไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้ และได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มต่อจำเลยที่ 3 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้พิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่พยานอีก 1 เท่าตัว คือที่ดินที่ติดถนนเข้าไปไม่เกิน 20 เมตร ให้เงินค่าทดแทนตารางวาละ 40,000 บาทส่วนที่เกิด 20 เมตรขึ้นไปให้ตารางวาละ 16,000 บาท ตามสำเนาหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินเพิ่มค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมายจ.25 แสดงว่าก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน จำเลยที่ 1 เคยให้เงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมาแล้วเฉพาะรายที่ที่ดินอยู่ห่างถนนเกิน 20 เมตรหรือที่ไม่ติดถนนสาธารณะตารางวาละ 16,000 บาท ดังนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยมาประมาณ 5 ปี จนถึงวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระหว่างนั้นก็ย่อมจะสูงขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันโดยทั่วไปในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นด้วย แม้ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจะอยู่ห่างซอยประดู่ 1 ประมาณ 100 เมตร แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวอยู่ในทำเลที่เจริญ การคมนาคมสะดวกสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เพียงตารางวาละ5,000 บาท และเพิ่มให้อีกตารางวาละ 5,000 บาทรวมเป็นตารางวาละ10,000 บาทย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ผู้ต้องถูกเวนคืนที่ดินไปทั้งแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 10,000 บาท รวมเป็นตารางวาละ20,000 บาท นับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาสุดท้ายว่า โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนมีอัตราเท่าใด ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย บัญญัติไว้ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยในหนี้เงินระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่โจทก์จะพึงได้รับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมีอัตราเท่าใด ศาลก็ไม่มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรกให้แก่โจทก์ และหากโจทก์นำสืบว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่โจทก์จะพึงได้รับมีอัตราต่ำกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีศาลก็ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตามอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์นำสืบได้คือต่ำกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้นจะนำมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คงที่ นับแต่วันที่ 19ตุลาคม 2533 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้องฎีกาของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2533เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย บัณฑิต ทัพเจริญ จำเลย - กรุงเทพมหานคร กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุรินทร์ นาควิเชียร สุทธิ นิชโรจน์ สมพล สัตยาอภิธาน

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE