คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2562
nan
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 8, 9, 14, 26/4, 26/5, 31 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 (ที่ถูก มาตรา 54 วรรคหนึ่ง), 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูก มาตรา 90) จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกสถานเดียว ไม่ปรับ และไม่รอการลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เดิมจำเลยและครอบครัวมีที่ดินทำกินที่ทางราชการผ่อนผันให้เข้าทำกินมาตั้งแต่ประมาณปี 2525 ประมาณ 9 ไร่เศษ ต่อมาเมื่อประมาณปี 2546 จำเลยจึงเข้ายึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เข้าไปตรวจสอบและจับกุม เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ฎีกาดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในป่าห้วยคอกช้าง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าแพ แล้วจำเลยแผ้วถาง ตัดฟัน โค่นต้นไม้ เผาป่าและปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดังกล่าวเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา การกระทำของจำเลยนับว่าเป็นต้นเหตุและเป็นตัวการสำคัญในการทำลายป่าที่รัฐกำหนดให้เป็นเขตที่ต้องสงวนเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสมบัติของชาติและประชาชน ทั้งเป็นการทำลายระบบนิเวศของป่าเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องดูแลครอบครัวก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่งและพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สวอ.41/2562
แหล่งที่มา nan
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสวรรคโลก จำเลย - นาย ร.
ชื่อองค์คณะ พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ธงชัย เสนามนตรี ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสวรรคโลก - นางอนิสรา จารุอรอุไร ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายเฉลิมชัย ตันตยานนท์