สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม. 14 (ใหม่)

ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า "(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า "(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง" จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้นำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 130ก/2558 ของศาลทหารกรุงเทพ

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) (ที่ถูก มาตรา 14 (1) จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 130ก/2558 ของศาลทหารกรุงเทพนั้น เนื่องจากคดีนี้และในคดีดังกล่าวรอการลงโทษจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอส่วนนี้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ให้เหตุผลว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา

ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ 2.3 ไว้พิจารณา และให้ดำเนินการต่อไป เนื่องจากฎีกาข้อดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่อยู่ในบังคับข้อต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ 2.3 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายไว้พิจารณาเท่านั้น ดังนี้ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 โดยข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้นำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า "(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า "(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ต้องมีเจตนาพิเศษ "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง" จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้นำข่าวอันเป็นเท็จลงในเว็บไซต์ที่จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) แต่ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำของจำเลยเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.487/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย น.

ชื่อองค์คณะ ชลิต กฐินะสมิต ประมวญ รักศิลธรรม ทัศน์พงษ์ เหล่ารักษ์วงศ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางลัดดาวัลย์ ศรศักดา ศาลอุทธรณ์ - นายวิรัช จารุนิธิ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th