คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204 วรรคสอง, 224 วรรคหนึ่ง, 366, 386
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลผูกพันกัน และคู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 และมาตรา 386 ข้อความในบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยซึ่งประกอบด้วยที่ดิน 2 แปลง โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องเข้าศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไปเสียก่อน ซึ่งในข้อ 1.3 ระบุว่า หากผลการศึกษาโครงการเป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ คู่สัญญาจะทำการเจรจาทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าต่อไป และข้อ 1.4 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้ หากผลการศึกษาโครงการพบว่าไม่เป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ในด้านใด ๆ ดังนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์ในการเลิกบันทึกข้อตกลงไว้ โดยอาศัยความพึงพอใจของโจทก์ในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินจำนวน 35,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้ เป็นเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่โจทก์เข้าศึกษาโครงการ ในกรณีที่ผลการศึกษาโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจและโจทก์แจ้งไม่ประสงค์จะเข้าลงทุน ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที โดยคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ประกอบกับในรายงานประชุมคณะกรรมการของโจทก์มีข้อความระบุชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และคณะกรรมการของโจทก์ขอเสนอให้เปลี่ยนจากการวาง "เงินมัดจำ" ตามที่จำเลยเสนอมา เป็นการวาง "เงินประกัน" ความเสียหายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแทน แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์จะซื้อโครงการของจำเลย จะต้องมีการเจรจาตกลงในข้อสาระสำคัญกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 366 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าโครงการของจำเลยไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมการของโจทก์ได้บอกเลิกบันทึกข้อตกลงไปยังจำเลยพร้อมแจ้งให้คืนเงินประกัน 35,000,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิเลิกบันทึกข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง หาใช่เป็นการใช้สิทธิเลิกตามอำเภอใจหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เมื่อสัญญาเข้าร่วมทุนหรือซื้อโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และตามบันทึกข้อตกลงได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันแก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยไม่คืนเงินประกันภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
สำหรับค่าเสียหาย 10,000,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการอื่นนั้น ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าลงทุนในโครงการของจำเลย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที จำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันเท่านั้น โดยคู่สัญญาจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 35,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 โจทก์กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเพื่อเข้าศึกษาโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10505 และ 116930 เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยในข้อ 4 ของบันทึกดังกล่าวกำหนดให้โจทก์วางเงินประกันการเข้าศึกษาโครงการให้แก่จำเลย 35,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยไปครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยและขอเงินประกันคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 แต่ไม่ยอมคืนเงินประกันแก่โจทก์
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกบันทึกข้อตกลง หรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลผูกพันกันและคู่สัญญาฝ่ายใดมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 และมาตรา 386 เมื่อพิจารณาข้อความในบันทึกข้อตกลงแล้ว มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าของจำเลยซึ่งประกอบด้วยที่ดิน 2 แปลง โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องเข้าศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไปเสียก่อน ซึ่งในข้อ 1.3 ระบุว่า หากผลการศึกษาโครงการเป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ คู่สัญญาจะทำการเจรจาทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการอาคารพักอาศัยให้เช่าต่อไป และข้อ 1.4 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้ หากผลการศึกษาโครงการพบว่าไม่เป็นที่น่าพอใจแก่โจทก์ในด้านใด ๆ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิแก่โจทก์ในการเลิกบันทึกข้อตกลงไว้ โดยอาศัยความพึงพอใจของโจทก์ในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในข้อ 4 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินจำนวน 35,000,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้ เป็นเงินประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่โจทก์เข้าศึกษาโครงการ ในกรณีที่ผลการศึกษาโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจและโจทก์แจ้งไม่ประสงค์จะเข้าลงทุน ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที โดยคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ซึ่งในข้อนี้ นายชุน สามีจำเลยก็เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1.4 ให้สิทธิแก่โจทก์ในการยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเมื่อโจทก์ศึกษาโครงการแล้วไม่เป็นที่พอใจ ทั้งเบิกความยอมรับว่า จำเลยให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งภูมิ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งตระกูล เสริมสุข เป็นผู้จัดเก็บรายได้ในโครงการนี้จริง ซึ่งปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งสองมีผลประกอบการขาดทุนเรื่อยมา อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงถึงสถานะทางการเงินหรือผลประกอบการเกี่ยวกับโครงการของจำเลยอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นข้อมูลที่โจทก์สามารถนำมาประกอบในการพิจารณาตัดสินใจไม่ลงทุนซื้อโครงการของจำเลยได้ เพราะโจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเพื่อหากำไรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณารายงานประชุมคณะกรรมการของโจทก์ ครั้งที่ 13/2558 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 วาระที่ 4 ประกอบแล้ว มีข้อความระบุชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และคณะกรรมการของโจทก์ขอเสนอให้เปลี่ยนจากการวาง "เงินมัดจำ" ตามที่จำเลยเสนอมา เป็นการวาง "เงินประกัน" ความเสียหายในการเข้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแทน ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หากโจทก์ตกลงจะซื้อโครงการของจำเลย จะต้องมีการเจรจาตกลงในข้อสาระสำคัญกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 เหตุที่ในชั้นแรกคณะกรรมการของโจทก์มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการของจำเลย จนนำมาสู่การทำบันทึกข้อตกลง เนื่องจากอาศัยข้อมูลการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนของนางศรินทิพย์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ของโจทก์ซึ่งในภายหลังได้ลาออกไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับจุดคุ้มทุนใหม่ ปรากฏว่าโครงการของจำเลยไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 28 ปี จึงจะคุ้มทุน อันเป็นการแตกต่างจากการวิเคราะห์ของนางศรินทิพย์ ที่ระบุว่า จุดคุ้มทุนน่าจะอยู่ประมาณ 9 ถึง 11 ปี ซึ่งในปัญหาเกี่ยวกับจุดคุ้มทุน นางศรินทิพย์พยานจำเลยได้เบิกความตอบศาลว่า ในการวิเคราะห์ลงทุนโครงการต่าง ๆ นั้น หลักคิดวิเคราะห์มีทฤษฎีและแนวคิดต่างกันออกไป ไม่อาจหามาตรฐานกลางได้ การคิดวิเคราะห์แต่ละโครงการขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ผู้ประเมินแต่ละคนจะมองเห็นหรือคิดวิเคราะห์ไปถึงได้ ในการประเมินแต่ละโครงการย่อมมีผลการคิดวิเคราะห์แตกต่างกันไป ไม่อาจยึดถือคนหนึ่งคนใดเป็นเกณฑ์ได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการของโจทก์เชื่อตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่นำเสนอให้ทราบในภายหลังว่า โครงการของจำเลยไม่เหมาะที่จะตัดสินใจลงทุน เป็นเหตุให้กรรมการของโจทก์มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากสถานะโครงการไม่คุ้มทุน และได้บอกเลิกบันทึกข้อความตกลงไปยังจำเลยพร้อมกับแจ้งให้คืนเงินประกันจำนวน 35,000,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิเลิกตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงชอบแล้ว หาใช่เป็นการใช้สิทธิเลิกตามอำเภอใจหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาเข้าร่วมลงทุนหรือซื้อโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย ดังนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าวและมีหน้าที่ต้องคืนเงินประกัน 35,000,000 บาท แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 แต่ไม่ยอมคืนเงินประกันภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และเนื่องจากเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกบันทึกข้อตกลง และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 10,000,000 บาท แก่โจทก์ด้วยหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์อ้างว่า การที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการอื่นซึ่งสามารถก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะเข้าลงทุนในโครงการของจำเลย ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงทันที จำเลยเพียงแต่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 7 วันเท่านั้น โดยคู่สัญญาจะไม่เรียกร้องสิทธิหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินประกัน 35,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.115/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท อ. จำเลย - นางสาว ช.
ชื่อองค์คณะ พิชัย เพ็งผ่อง อธิคม อินทุภูติ จรัญ เนาวพนานนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งตลิ่งชัน - นายโตมร สิริวิวัฒน์ภากร ศาลอุทธรณ์ - นายธีรพงศ์ อุ่นชัย