คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5895/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65 วรรคสอง
จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำ จำเลยเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลติดต่อกันนานประมาณ 7 ปี แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการที่แผนกการเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดได้ตามปกติแสดงว่าบางขณะจำเลยมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางขณะก็เป็นปกติ คืนเกิดเหตุ จำเลยเคาะประตูเรียก ป. และโวยวายให้คนช่วยหาคนที่เอามดแดงไปใส่ในรองเท้าจำเลยและทำลายข้าวของในห้องพักของ จำเลยเมื่อจำเลยไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนของผู้ตาย จำเลยหยิบมีดและปืนออกจากห้องและเดินตามหาผู้ตายเมื่อพบผู้ตายจำเลยพูดว่า "เฮ้ย มึงว่ากูกล้ายิงไหม" แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทันที นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยได้พูดกับ ป. ว่า"เป็นไง เพื่อน มึงวิ่งหนีกูทำไม" พฤติการณ์ของจำเลยก่อนและหลังกระทำความผิดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 91, 288, 371 และริบอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 288, 80 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสองพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสองเป็นการทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 8 เดือนคำรับชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนสั้นไม่มีเครื่องหมายทะเบียนยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกแขนขวาได้รับบาดเจ็บ และยิงผู้ตาย 3 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณศีรษะด้านหลังข้างขวาถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดในขณะที่ไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเนื่องจากจำเลยประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำจำเลยเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาและรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชรวมเวลาติดต่อกันนานประมาณ 7 ปี แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการที่แผนกการเงิน กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมได้ตามปกติแสดงว่าบางขณะจำเลยมีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย บางขณะก็เป็นปกติ และข้อเท็จจริงได้ความว่าคืนเกิดเหตุจำเลยเคาะประตูเรียกจ่าสิบตำรวจประภาสและโวยวายให้ช่วยหาคนที่เอามดแดงไปใส่ในรองเท้าของจำเลย และทำลายข้าวของในห้องพักของจำเลย เมื่อจำเลยไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนของผู้ตาย จำเลยหยิบมีดและปืนของกลางออกจากห้อง และเดินตามหาผู้ตาย จำเลยพบผู้ตายกับพวก จำเลยพูดว่า "เฮ้ยมึงว่ากูกล้ายิงไหม"แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทันที นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยได้พูดกับจ่าสิบตำรวจประภาสว่า "เป็นไงเพื่อนมึงวิ่งหนีกูทำไม" พิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยก่อนและหลังกระทำความผิดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ จังหวัด นครปฐม จำเลย - จ่าสิบตำรวจ สะอาด ห้อย มา ลา
ชื่อองค์คณะ มงคล สระฏัน อธิราช มณีภาค วุฒิ คราวุฒิ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan