สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (1)

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 389,455.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 270,814.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 270,814.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2554) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 128,070 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2554) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 โจทก์ทำสัญญาซื้อตู้เก็บแช่สารเคมี อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ถึง ลบ 20 องศาเซลเซียส จากจำเลยที่ 1 ราคา 139,100 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 แต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบตู้เก็บแช่สารเคมีวันที่ 26 เมษายน 2547 ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 โจทก์สรุปผลการตรวจสอบคุณภาพของตู้เก็บแช่สารเคมีว่ามีข้อบกพร่องและไม่สามารถตรวจรับได้วันที่ 8 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 รับตู้เก็บแช่สารเคมีไปปรับปรุง แต่ไม่ส่งคืนโจทก์ จากนั้นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับหนังสือบอกเลิกสัญญาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายตู้เก็บแช่สารเคมีกับบริษัทธเนศพัฒนา จำกัด ราคา 280,000 บาท

ในข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ส่งมอบตู้เก็บแช่สารเคมีให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะประวิงการตรวจรับเป็นเวลาล่วงเลยกว่า 4 เดือน โดยไม่ชำระหนี้ต่างตอบแทน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยึดหน่วงตู้เก็บแช่สารเคมีได้นั้น เห็นว่า ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนในการชำระหนี้ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ถือว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาประเด็นดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.13412/2550 ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 215/2552 ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง เรื่อง ซื้อขาย ในมูลหนี้เดียวกันกับมูลหนี้ในคดีนี้ โดยขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ในมูลหนี้เดิมจึงเป็นฟ้องซ้ำ เห็นว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลหนี้เดียวกันต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3017/2550 หมายเลขแดงที่ 215/2552 วันที่ 22 มกราคม 2552 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากจำเลยทั้งสองถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.13412/2550 และคดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากเจ้าหนี้ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองไม่สมควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำแถลงขอให้ศาลจำหน่ายคดีจำเลยทั้งสองออกจากสารบบความ ซึ่งมีผลตามมาตรา 136 คือ ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับหนี้สินดังกล่าวอีกได้ ประกอบกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 215/2552 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ประกอบการค้าที่มีกำไรลักษณะซื้อถูกขายแพง จึงมีอายุความ 2 ปี เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับหนังสือดังกล่าววันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 31 มกราคม 2554 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าว และให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2554) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.507/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จำเลย - ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับพวก

ชื่อองค์คณะ เธียรดนัย ธรรมดุษฎี ศิริชัย ศิริชื่นวิจิตร ไชยผล สุรวงษ์สิน

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายวันชัย อินทร์แก้ว ศาลอุทธรณ์ - นางสาวสิริกานต์ มีจุล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th