คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2564
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 148 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7
พิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย คำให้การจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 เพื่อชำระหนี้ที่บริษัท ท. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 30,000,000 บาท และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้ และโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบริษัท ท. แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้เคยฟ้องบังคับคดีตามสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์กับบริษัท ท. ที่ 1 พ. ที่ 2 จำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนั้นร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และโจทก์ได้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว แต่คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองเอาจากบริษัท ท. และ พ. จำเลยทั้งสองของคดีดังกล่าว โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ให้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้มีการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยกับบริษัท ท. ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 311/2541 ของศาลชั้นต้นและที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โอนคืนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัท ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องบังคับเอาจากจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนองไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนอง สิทธิและหน้าที่ของจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยไม่เกี่ยวกับบริษัท ท. จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีที่แตกต่างกัน คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
ส่วนที่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ระหว่าง อ. โจทก์ กับบริษัท ภ. ที่ 1 บริษัท ท. ที่ 2 จำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ติดภาระจำนองไปด้วยในคดีหมายเลขดำที่ 1342/2549 หมายเลขแดงที่ 412/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ ขบ.1/2550) โดยโจทก์ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีนี้เพื่อใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในการซื้อทรัพย์จำนอง ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองและขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในวันขายทอดตลาดและหากโจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิในการบังคับคดีแทนหรือไม่ดำเนินการในการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด โจทก์ขอดำเนินการบังคับคดีแทนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 มาเป็นชื่อของจำเลย ต่อมาโจทก์ในคดีนี้ได้ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ระหว่าง ต. โจทก์ พ. ที่ 1 ณ. ที่ 2 บริษัท ภ. ที่ 3 จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวนี้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น และต่อมามีการถอนการบังคับคดีและจำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ยังคงมีภาระหนี้คงค้างต้น 30,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 119,732,739.34 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 149,732,739.34 บาท ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงไม่มีการบังคับคดีอีกต่อไป และคำฟ้องในคดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำนองจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนไปซึ่งทรัพย์จำนองในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ด้วยเช่นกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 149,732,739.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกบริษัท ซ. ผู้รับโอนที่ดินทรัพย์จำนองจากจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ พิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย คำให้การจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 เพื่อชำระหนี้ที่บริษัท ท. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 30,000,000 บาท และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้ และโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบริษัท ท. แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ได้เคยฟ้องบังคับคดีตามสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ โจทก์ กับบริษัท ท. ที่ 1 นาย พ. ที่ 2 จำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนั้นร่วมกันชำระเงิน จำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มีนาคม 2539) ต้องไม่เกิน 3,503,835.62 บาท หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท และโจทก์ได้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว แต่คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองเอาจากบริษัท ท. และนาย พ. จำเลยทั้งสองของคดีดังกล่าว โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยให้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย แม้จะปรากฏว่า ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้มีการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ระหว่างจำเลยกับบริษัท ท. ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 311/2541 ของศาลชั้นต้น และที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โอนคืนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัท ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องบังคับเอาจากจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนองไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนอง สิทธิและหน้าที่ของจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยไม่เกี่ยวกับบริษัท ท. จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีที่แตกต่างกัน คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ส่วนที่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ระหว่าง นาย อ. โจทก์ กับบริษัท ภ. ที่ 1 บริษัท ท. ที่ 2 จำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ติดภาระจำนองไปด้วยในคดีหมายเลขดำที่ 1342/2549 หมายเลขแดงที่ 412/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ ขบ.1/2550) โดยโจทก์ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีนี้เพื่อใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในการซื้อทรัพย์จำนอง ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองและขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในวันขายทอดตลาดและหากโจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิในการบังคับคดีแทนหรือไม่ดำเนินการในการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด โจทก์ขอดำเนินการบังคับคดีแทนเท่านั้น แต่ปรากฏว่า ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 มาเป็นชื่อของจำเลย ต่อมาโจทก์ในคดีนี้ได้ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ระหว่างนาย ต. โจทก์ นาย พ. ที่ 1 นางสาว ณ. ที่ 2 บริษัท ภ. ที่ 3 จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวนี้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น และต่อมามีการถอนการบังคับคดีและจำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง โดยปรากฏจากคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ 12 ครั้ง ครั้งสุดท้ายได้รับชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 จำนวน 530,000 บาท คำนวณยอดหนี้ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2549 มียอดเงินต้นค้างชำระ 30,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ 51,433,835.43 บาท คำนวณถึงวันฟ้อง คือ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีภาระหนี้คงค้างเงินต้น 30,000,000 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 119,732,739.34 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 149,732,739.34 บาท ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงไม่มีการบังคับคดีอีกต่อไป และคำฟ้องในคดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำนองจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนไปซึ่งทรัพย์จำนองในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ด้วยเช่นกัน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนปัญหาในประเด็นอื่นตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลยและคำให้การจำเลยร่วม เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นโดยวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ (ที่ถูกคือ พิพากษายกฟ้อง) โดยไม่ได้สืบพยานโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมและพิจารณาพิพากษาตามประเด็นแห่งคดี จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่เสียก่อน
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)345/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ก. จำเลย - บริษัท ภ. จำเลยร่วม - บริษัท ซ.
ชื่อองค์คณะ เศกสิทธิ์ สุขใจ แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ น้ำเพชร ปานะถึก
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นายอธิชัย ยงคะอักษร ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายปลื้ม นวลนิ่ม