สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 42

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ข้อ 4.7 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะบังคับชำระหนี้กับจำเลยอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยระบุในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียนให้ส่งหนังสือไปยังที่ทำงานตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร ถือว่าเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยเลือกไว้เป็นการเฉพาะการ แต่โจทก์ส่งหนังสือไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้ประกอบการยื่นใบสมัครแม้มีผู้รับแทน แต่โจทก์มิได้มีหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยหรือที่อยู่จำเลยขณะทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนหรือที่อยู่ของจำเลยขณะโจทก์มีหนังสือดังกล่าวและขณะฟ้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบการเตือนให้ชำระหนี้จากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 119,316 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,327.12 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 119,316 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,327.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายกฤษฎิ์ ฟ้องและดำเนินคดีแทน วันที่ 14 สิงหาคม 2558 จำเลยสมัครและทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อกู้ยืมเงิน โจทก์ตกลงอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อแบบหมุนเวียนให้และมอบบัตรกดเงินสดประกอบรหัสประจำบัตรให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ จำเลยนำบัตรกดเงินสดไปเบิกถอนเงินสดและชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้ง จำเลยเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 จำนวน 6,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดโดยชำระค่างวดเพียงบางส่วนไม่ตรงตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาในสัญญา ครั้งสุดท้ายชำระวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 3,090 บาท แล้วไม่ชำระอีก ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 จำเลยมีหนี้ค้างชำระต้นเงิน 100,327.12 บาท ดอกเบี้ย 9,529.77 บาท ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 8,259.13 บาท ค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าและหรือค่าติดตามทวงถาม 1,200 บาท โจทก์ส่งหนังสือเตือนให้จำเลยชำระหนี้คืนเงินกู้ทั้งหมดไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยใช้ในการสมัคร และมีผู้รับแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การส่งคำบอกกล่าวไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แนบกับใบสมัครสินเชื่อบุคคลนอกจากที่ระบุไว้ในใบสมัครชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียน ข้อ 9 ที่ระบุว่า "ผู้ให้กู้จะส่งคำบอกกล่าวตามกฎหมายหรือตามสัญญากำหนดให้ต้องแจ้งหรือบอกกล่าวเป็นหนังสือโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาหรือที่อยู่ที่ผู้กู้ที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด…" เป็นกรณีที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ข้อ 4.7 ที่ว่า "เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติดังต่อไปนี้ (4) ต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย" ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งตามข้อ 1 ได้ระบุเหตุผลในการออกประกาศว่าเพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตลอดจนให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะบังคับชำระหนี้กับจำเลยอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อปรากฏว่า จำเลยได้ระบุไว้ในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียนว่า ให้โจทก์ส่งหนังสือไปยังที่ทำงานตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร คือ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด จึงต้องถือว่าที่ทำงานของจำเลยเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยเลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้ การที่โจทก์ส่งหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังที่อยู่เลขที่ 81 ซึ่งเป็นที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยใช้ประกอบการยื่นใบสมัคร แม้จะมีผู้รับแทนที่ระบุว่าเป็นหลาน แต่เมื่อโจทก์มิได้มีหนังสือไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยดังกล่าวหรือที่อยู่จำเลยขณะทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียน เลขที่ 338/2 ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังเลขที่ 180/19 ซึ่งเป็นที่อยู่ของจำเลยขณะโจทก์มีหนังสือเตือนให้ชำระหนี้และขณะฟ้อง ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรแนบท้ายคำแถลงขอปิดหมายของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบการเตือนให้ชำระหนี้จากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยเป็นที่อยู่ที่จำเลยระบุไว้ในใบสมัครด้วยและถือว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนขอให้ชำระหนี้ไปยังจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ให้ถูกต้องภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)371/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท อ. จำเลย - นาย ป.

ชื่อองค์คณะ วิชัย ช้างหัวหน้า แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ เจษฎาวิทย์ ไทยสยาม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสกลนคร - นายวรวุฒิ เลาลัคนา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายเกรียงศักดิ์ ดำรงศักดิ์ศิริ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th