สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 715 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50 วรรคสอง, 52

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์

เนื้อหาฉบับเต็ม

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามมาตรา 51

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง หรือมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จนครบถ้วนก่อน หากมีเงินเหลือจึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง โดยให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 1,151,875.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้คัดค้านที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้แต่ละช่วงเวลา แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากมีเงินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ขายทอดตลาด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 นายสุรเกียรติ กับพวก ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ว่าเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2558 บริษัท ท. กับพวก ร่วมกันโฆษณาชักชวนประชาชนตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการ อ. โดยมิได้ผูกขาดการลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เช่น ธุรกิจผลิตยาหรืออาหารเสริมซึ่งขายในประเทศและส่งออก ธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนและเสนอผลตอบแทนให้แก่ผู้ที่สามารถชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุนกับบริษัทดังกล่าว โดยที่รู้อยู่แล้วว่าจะนำเงินของผู้ลงทุนรายใหม่มาจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน ในรอบก่อนหน้านั้น และรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ โดยนายเกรียงศักดิ์ และนายเกรียงไกร กับพวกได้ชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินเข้าร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องดังกล่าวทำการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท ท. กับพวก ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินของบริษัท ท. กับพวก รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์อื่น ๆ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องบริษัท ท. กับพวก เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1654/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3659/2561 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าบริษัท ป. จำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้อง ส่วนฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่น ๆ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5889/2561 ของศาลจังหวัดมีนบุรี พิพากษายกฟ้องนายเกรียงศักดิ์เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 719-2-31xxx-x ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 572-2-09xxx-x วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 มีการโอนเงิน 1,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของนายเกรียงศักดิ์ไปยังบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 แล้วผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากนางสุรัตนา และจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 บริษัท ท. และนายเกรียงศักดิ์กับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และ 12 อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริษัท ท. และนายเกรียงศักดิ์กับพวก ผู้กระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ดินโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 41754 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 1,151,875.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้คัดค้านที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้แต่ละช่วงเวลา แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากมีเงินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของต้นเงินนับถัดจากวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 ถ้าศาลทำการไต่สวนคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 50 วรรคสอง แล้วเห็นว่าฟังขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์โดยจะกำหนดเงื่อนไขด้วยก็ได้ อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย ฯ ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การคุ้มครองสิทธิเรื่องดอกเบี้ยตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของหนี้ที่ค้างชำระจนถึงวันขายทอดตลาดโดยไม่ปรากฏเหตุผลว่ามีกฎหมายใดที่บัญญัติให้ผู้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดังกล่าวมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของหนี้ที่ค้างชำระจนถึงวันขายทอดตลาดเท่านั้น ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ อีกทั้งการกำหนดให้ได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาดนั้น หากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเพียงพอชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมด แต่ผู้รับประโยชน์ต้องไปเรียกให้ชำระหนี้หรือฟ้องให้บังคับชำระหนี้ในดอกเบี้ยส่วนที่เหลือนับจากวันขายทอดตลาดอีก ก็ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผลในการที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.7/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นางสาว ม. กับพวก

ชื่อองค์คณะ จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล พงษ์ธร จันทร์อุดม สรชัย จตุรภัทรวงศ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายประเสริฐ เผือดโพธิ์ ศาลอุทธรณ์ - นายสมคิด แสงธรรม

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th