สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 172, 1367

อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 870

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน คู่ความทั้งสองฝ่ายสละประเด็นในคำฟ้องและคำให้การทั้งหมด โดยให้คงไว้แต่ประเด็นว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิอันเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และนิติกรรมการจำนองเป็นโมฆะหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 870 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 870 อันเป็นที่ดินพิพาท และมีข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2537 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนให้บริษัท ข. มีสิทธิเหนือพื้นดินมีกำหนด 30 ปี และในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ของบริษัท ข. ที่มีต่อธนาคาร ก. วันที่ 20 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการรับจำนองมาจากธนาคาร ก. วันที่ 16 กันยายน 2542 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท ข. วันที่ 6 กันยายน 2545 โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ในโครงการสนามกอล์ฟ ของบริษัท ข. จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในราคา 265,680,000 บาท และโจทก์เข้าครอบครองดำเนินกิจการสนามกอล์ฟตลอดมา โดยเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น รีสอร์ท แอนด์ สปา ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่า ที่ดินภายในโครงการสนามกอล์ฟประกอบด้วยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 56 แปลง แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 จำนวน 36 แปลง ที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กลุ่มที่ 2 จำนวน 14 แปลง เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และกลุ่มที่ 3 จำนวน 6 แปลง จำนองเป็นประกันหนี้ของบริษัท ข. อยู่ระหว่างดำเนินคดี โจทก์เปิดให้บริการสนามกอล์ฟและเข้าไปใช้ที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ติดต่อเจรจาภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินกลุ่มที่ 2 จำนวน 14 แปลง ศาลจังหวัดมีนบุรี (เดิม) พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีขับไล่โดยไม่สุจริต เพราะขณะจำเลยที่ 1 เข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสนามกอล์ฟทั้งหมดไม่เคยมีตัวแทนของจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินกลุ่มที่ 2 จำนวน 14 แปลง ของจำเลยที่ 1 อยู่ในสนามกอล์ฟดังกล่าวด้วย จนโจทก์ปรับปรุงเป็นสนามกอล์ฟใหม่ คดีถึงที่สุดตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 248/2549 ของศาลจังหวัดมีนบุรี (เดิม) สำหรับที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยขอให้บังคับจำนอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 บังคับจำนองได้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในกลุ่มที่ 3 เช่นเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5025 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องบังคับจำนองที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินพิพาท แต่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์เชื่อว่า ธนาคาร ก. รับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5025 ร่วมรู้เห็นกับบริษัท ข. ในการซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอน โดยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมในรูปแบบมีสิทธิเหนือพื้นดินและให้นายอุทัย ผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5025 ลงชื่อเป็นผู้จำนองแทนบริษัท ข. เป็นการอำพรางสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่นายอุทัยทำกับบริษัท ข. โดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาผูกพันในเรื่องสิทธิเหนือพื้นดินและสัญญาจำนอง สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายอุทัยกับบริษัท ข. ที่ทำเป็นสัญญาสิทธิเหนือพื้นดินและสัญญาจำนองจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมาตรา 155 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำนอง ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18617/2555 โจทก์นำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่าสัญญาสิทธิเหนือพื้นดินและสัญญาจำนองเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาโต้แย้งความเป็นโมฆะกรรมของสัญญาทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายสละประเด็นในคำฟ้องและคำให้การทั้งหมดโดยให้คงไว้แต่ประเด็นว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิอันเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และนิติกรรมจำนองเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนี้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในเรื่องคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองเพียงว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิอันเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟ ประกอบด้วยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 56 แปลง จำเลยที่ 1 ปกปิดข้อเท็จจริงและแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟดังกล่าวมีจำนวน 36 แปลง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายทอดตลาดที่ดินโครงการสนามกอล์ฟจำนวน 36 แปลง เมื่อโจทก์ประมูลซื้อได้ จึงเข้าครอบครองที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟดังกล่าวทั้งหมดจนถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี (เดิม) จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และสิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่ได้มาโดยข้อเท็จจริง ไม่จำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลรับรองเพียงแต่บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ที่ดินพิพาทจะไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายทอดตลาด แต่เมื่อโจทก์ประมูลซื้อที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟได้ และเข้าครอบครองดำเนินกิจการสนามกอล์ฟตลอดมาจนถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี (เดิม) จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ได้เข้ายึดถือที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟทั้งหมดจำนวน 56 แปลง ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยอมรับและไม่ยินยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งหมดของโครงการสนามกอล์ฟรวมทั้งที่ดินพิพาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ฟ้องเรียกคืนการครอบครองจนศาลมีคำพิพากษาขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท จึงไม่ทำให้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ได้มาจากการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนสิ้นไป จำเลยที่ 2 แม้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 870 ที่พิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ครอบครองเพราะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยทำเป็นสัญญาสิทธิเหนือพื้นดินและสัญญาจำนองที่ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่าไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องกระทำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.501/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ค. จำเลย - บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. กับพวก

ชื่อองค์คณะ เมธี ประจงการ เรวัตร สกุลคล้อย เชด กวีบริบูรณ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสีคิ้ว - นายสมฤกษ์ สำลีอ่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นางอัจฉรา นาถะภักติ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th