คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6091/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 254, 264, 267, 269
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของโจทก์ฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ในวันที่ 13 ธันวาคม2531 และสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทุกคนทราบ เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนเสร็จในวันที่ 14 ธันวาคม 2531 แล้วได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นให้จำเลยทุกคนร่วมกันจัดการนำส่งสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อศาลเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาภายใน 15 วันจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532 ขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ดังนี้ มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้อง ของ โจทก์เป็นการด่วนโดยไม่ชักช้า และคำสั่งดังกล่าวก็มิได้บังคับได้ทันทีโดยไม่ต้องส่งให้จำเลยทุกคนทราบดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 267,269 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์อย่างวิธีธรรมดา จะนำป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง มาปรับกับกรณีตามคำร้อง ของ จำเลยไม่ได้.
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้ถือหุ้นเกินกว่าหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมดขอให้บังคับจำเลยทุกคนในฐานะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี อนุญาตให้โจทก์หรือตัวแทนเข้าตรวจดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ให้จำเลยทุกคนจัดทำสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นและส่งมอบให้โจทก์
ในวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นเอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่คนร่วมกันจัดส่งสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมาไว้ที่ศาลเป็นการด่วนเพื่อรักษาไว้ที่ศาลเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 13 ธันวาคม 2531 และให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยทุกคน จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6ยื่นคำคัดค้านคำร้องของโจทก์ว่า จำเลยไม่จัดการประชุมตามที่โจทก์ขอ เพราะโจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด จำเลยยินดีให้โจทก์เข้าตรวจดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเสมอไม่เคยปฏิเสธต่อโจทก์ โจทก์เพียงคาดคิดเอาว่าโจทก์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นไม่สำเร็จ เพราะจำเลยคงจะไม่ให้ตรวจดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น กรรมการของบริษัทคงจะไม่มาประชุม เป็นเหตุการณ์ภายหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จะขอให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ชั่วคราวดังคำร้องของโจทก์ไม่ได้ และกรณีไม่มีเหตุฉุกเฉินดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531ว่า ให้จำเลยทั้งสิบสี่คนร่วมกันจัดการนำส่งสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด ต่อศาลเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาภายใน 15 วัน เพื่อให้โจทก์ตรวจดูรายชื่อผู้ถือหุ้น
ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามนัยมาตรา 267 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6
จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 5 ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของโจทก์หลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องแล้ว 6 วัน โดยส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 1ที่ 5 ทราบ แล้วได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้น หลังจากไต่สวนเสร็จก็ถือได้ว่าเป็นการพิจารณาเป็นการด่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 5 ไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้นอกจากร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ในวันที่ 13ธันวาคม 2531 และสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทุกคนทราบเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนเสร็จในวันที่ 14 ธันวาคม 2531 แล้วได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นให้จำเลยทุกคนร่วมกันจัดการนำส่งสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อศาลเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาภายใน 15 วัน ดังนี้จึงมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของโจทก์เป็นการด่วนโดยไม่ชักช้า และคำสั่งดังกล่าวก็มิได้บังคับได้ทันทีโดยไม่ต้องส่งให้จำเลยทุกคนทราบดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267, 269 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาไต่สวนคำร้องของโจทก์อย่างวิธีธรรมดา ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2514 ดังนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 วรรคสอง มาปรับกับกรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 5ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532 ไม่ได้
พิพากษายืน.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ชนัตถ์ ปิยะอุย จำเลย - นาย ศิริชัย บูลกุล กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุนพ กีรติยุติ นิเวศน์ คำผอง ไพฑูรย์ เนติโพธิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan