สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2567

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 12

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 บัญญัติหลักแห่งการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจไว้ว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม" บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ที่บัญญัติให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิและในการชำระหนี้ให้ยิ่งไปกว่าบุคคลทั่วไปจะพึงมีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติต่อผู้บริโภคไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจในกิจการทำนองเดียวกันประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริโภค ทั้งต้องมีจริยธรรมในการประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในกิจการของผู้ประกอบธุรกิจควบคู่กันไป หากผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐานความสุจริตดังกล่าวแล้ว ย่อมเท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต และศาลไม่อาจบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาแห่งการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ และรับโอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ต่อจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ธนาคาร น. ในวันใด และธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2550 ได้ตั้งแต่เวลาใด รวมถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาแล้วได้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในทันทีที่มีโอกาสกระทำได้หรือภายในระยะเวลาอันสมควรหรือไม่ พฤติการณ์ของธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมกับโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาในปี 2557 ยังคงทอดเวลาให้เนิ่นช้ากว่าจะนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นเวลาถึงห้าปีเศษ จนเป็นเหตุให้ภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดสูงเกินไปกว่าต้นเงินที่ค้างชำระ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้เดิมและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค กรณีนับเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่กำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้องจึงสมควรแก่รูปคดีแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,557,603.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 759,977.73 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 37397 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 887,198.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของต้นเงิน 759,977.73 บาท นับถัดจากวันที่ 23 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 37397 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 887,198.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็มแอลอาร์ ตามประกาศธนาคาร น. และประกาศของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับแต่ละช่วงเวลา บวกร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงิน 759,977.73 บาท นับถัดจากวันที่ 23 ตุลาคม 2557 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2563) ทั้งนี้ ไม่บังคับจำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 จำเลยทั้งสองกู้เงินและรับเงินจากธนาคาร น. 1,400,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามจำนวนที่กำหนดในสัญญา ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 37397 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยตกลงว่าหากบังคับทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้ธนาคารบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ได้จนครบถ้วน ภายหลังจากทำสัญญากู้จำเลยทั้งสองทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ณ วันที่ 30 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงิน 800,741.53 บาท และดอกเบี้ย 67,374.13 บาท จำเลยทั้งสองมิได้ชำระเงินกู้ตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมาธนาคาร น. ทำสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อและหลักประกันในส่วนของจำเลยทั้งสองให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ท. และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 บริษัทดังกล่าวทำสัญญาโอนขายสิทธิเรียกร้องสินเชื่อและหลักประกันในส่วนของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 บัญญัติหลักแห่งการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจไว้ว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม" บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ที่บัญญัติให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิและในการชำระหนี้ให้ยิ่งไปกว่าบุคคลทั่วไปจะพึงมีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติต่อผู้บริโภคไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจในกิจการทำนองเดียวกับประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริโภค ทั้งต้องมีจริยธรรมในการประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในกิจการของผู้ประกอบธุรกิจควบคู่กันไป หากผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐานความสุจริตดังกล่าวแล้ว ย่อมเท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต และศาลไม่อาจบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาแห่งการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ และรับโอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ต่อจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ธนาคาร น. ในวันใด และธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2550 ได้ตั้งแต่เวลาใด รวมถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาแล้วได้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในทันทีที่มีโอกาสกระทำได้หรือภายในระยะเวลาอันสมควรหรือไม่ อย่างไร ลำพังข้ออ้างที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาถึงความล่าช้าในการดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองว่าเป็นผลจากระบบงานภายในของโจทก์และธนาคารเจ้าหนี้เดิมซึ่งมีการรวมกิจการกับธนาคารอื่น จนมีการโอนหนี้รวมถึงข้อมูลลูกหนี้จำนวนมากเป็นลำดับเรื่อยมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่า เจ้าหนี้เดิมและโจทก์ผู้รับโอนหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว พฤติการณ์ของธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมกับโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาในปี 2557 ยังคงทอดเวลาให้เนิ่นช้ากว่าจะนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นเวลาถึงห้าปีเศษ จนเป็นเหตุให้ภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดสูงเกินไปกว่าต้นเงินที่ค้างชำระ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้เดิมและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค กรณีนับเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาศัยอำนาจบทบัญญัติดังกล่าวไม่กำหนด ให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยทั้งอัตราปกติและอัตราผิดนัดของหนี้ต้นเงินภายหลังจากวันฟ้องจึงเป็นการพิพากษาตามสมควรแก่รูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)200/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. จำเลย - นาย บ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดปทุมธานี - นายอาวุธ อักษรพันธ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายวราเชน ชูพงศ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE