สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2564

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 39

จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการขอส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนและไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่อการติดตั้งฟิล์มกรองแสงเป็นของแถมที่จำเลยที่ 2 เสนอให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดไว้ด้วยความประณีตเรียบร้อยใช้การได้ดีเหมาะสมแก่รถยนต์พิพาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบควบคุมคุณภาพการติดตั้งจนเกิดความเสียหาย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้รับผิดในจำนวนค่าเสียหายนี้มาให้ครบถ้วนถูกต้อง และวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นตามฟ้อง ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายตามความเหมาะสม แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 โดยให้จำเลยที่ 2 ติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดในสัญญาซื้อรถยนต์ให้โจทก์ใหม่ทุกบานเพื่อให้สอดคล้องกับกระจกบานอื่น และตรวจสอบระบบวงจรไล่ฝ้าให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการลอกฟิล์มเก่าออก อันเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทในระหว่างติดตั้งฟิล์มกรองแสงใหม่ หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้อีกด้วย เมื่อความเสียหายเกิดจากการติดฟิล์มกรองแสงซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายหลัง เป็นความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะตามข้อตกลงไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการผลิตรถยนต์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 5,466,469.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,399,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินวันละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะมารับมอบรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน คืนค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาอุทธรณ์ 750 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันและรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการรถยนต์ที่ประกอบและนำเข้าจากประเทศในทวีปยุโรปมาจำหน่ายในประเทศ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 โจทก์จองซื้อรถยนต์ยี่ห้อ บ. แบบซีดาน สีขาว ซึ่งเป็นรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศโดยวางมัดจำแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท กำหนดส่งมอบกันในวันที่ 25 เมษายน 2560 เมื่อถึงกำหนดโจทก์ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่สามารถส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์เนื่องจากต้องรอติดตั้งฟิล์มกรองแสงก่อนและเลื่อนการส่งมอบไปภายในเดือนเมษายน 2560 ครั้นวันที่ 29 เมษายน 2560 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ตรวจพบรอยเส้นสีขาวที่กระจกหลังของรถยนต์พิพาท โจทก์จึงไปพบตัวแทนจำเลยที่ 2 บริษัท อ. ผู้รับจ้างติดฟิล์มกรองแสงให้แก่จำเลยที่ 2 เสนอที่จะติดตั้งฟิล์มกรองแสงให้โจทก์ใหม่ แต่โจทก์ประสงค์จะขอเปลี่ยนรถยนต์หรือเลิกสัญญาและคืนรถยนต์พิพาทแก่จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า รถยนต์พิพาทมิได้มีความชำรุดบกพร่อง รอยเส้นสีขาวเป็นรอยกาวที่เกิดจากการลอกฟิล์มกรองแสงที่ติดตั้งเดิมออก แล้วนำฟิล์มกรองแสงแผ่นเดิมมาติดตั้งใหม่ รอยกาวดังกล่าวจึงเป็นเสมือนรอยจำลองมาจากเส้นลวดไล่ฝ้าที่ติดตั้งมากับรถยนต์พิพาทแต่เดิมและเส้นลวดวงจรระบบไล่ฝ้าไม่ขาด จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินค่ารถยนต์พิพาท 4,399,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มิได้ส่งมอบรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการขอส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยที่ 2 และไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่ารถยนต์พิพาท 4,399,000 บาท แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการติดตั้งฟิล์มกรองแสงอันเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเลยที่ 2 เสนอเป็นของแถมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ต้องติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดไว้ด้วยความประณีตเรียบร้อยสามารถใช้การได้ดีเหมาะสมแก่รถยนต์พิพาทของโจทก์ซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่ แต่จำเลยที่ 2 มิได้ติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพในระหว่างการติดตั้งฟิล์มกรองแสงจนเกิดความเสียหายดังกล่าว แม้โจทก์มิได้มีคำขอให้รับผิดในจำนวนค่าเสียหายนี้มาให้ครบถ้วนถูกต้อง และวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นตามฟ้อง แต่ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายตามความเหมาะสมแม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ซึ่งความเสียหายในส่วนการติดตั้งฟิล์มกรองแสง สมควรบังคับให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดตั้งฟิล์มกรองแสงตามชนิดยี่ห้อที่กำหนดในสัญญาซื้อรถยนต์ให้โจทก์ใหม่ แต่เนื่องจากนับแต่วันส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ คือ วันที่ 29 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ศาลฎีการับฎีกาคดีนี้มาเป็นเวลาประมาณ 3 ปีเศษ หากติดตั้งฟิล์มกรองแสงใหม่เฉพาะกระจกบานหลัง สีฟิล์มกรองแสงอาจไม่สอดคล้องกับกระจกบานอื่น สมควรให้จำเลยที่ 2 ติดตั้งฟิล์มกรองแสงรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ใหม่ทุกบาน และตรวจสอบระบบวงจรไล่ฝ้ากระจกทุกบานให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการลอกฟิล์มเก่าออก อันเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดในผลนั้น และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทในระหว่างติดตั้งฟิล์มกรองแสงใหม่วันละ 4,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด สมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการรถยนต์ที่ประกอบและนำเข้าจากประเทศในทวีปยุโรปมาจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากการติดตั้งฟิล์มกรองแสงซึ่งเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่มาติดตั้งภายหลัง อันเป็นความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะตามข้อตกลง มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องในการผลิตรถยนต์เพื่อขายของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้งให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี… และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี… และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการติดฟิล์มกรองแสงและตรวจสอบระบบวงจรไล่ฝ้าให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีภายในเวลาที่กำหนดนั้นเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ใหม่ทุกบาน และทำการตรวจสอบระบบวงจรไล่ฝ้ากระจกทุกบานให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยสามารถใช้การได้ดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทในระหว่างติดตั้งฟิล์มกรองแสงใหม่วันละ 4,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าหากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)379/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ด. จำเลย - บริษัท บ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสระบุรี - นางสาวโกมลลดา ไกรสิงห์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th