คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2564
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 22
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ในเดือนมกราคม 2551 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือจำเลยนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ…" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม…" เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 14,381,511 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 5,399,497 บาท ที่ชำระขาดตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 14,381,511 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 5,399,497 บาท ที่ชำระขาดตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าที่ขาด 3,838,160 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าเป็นเงิน 3,838,160 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขาด 940,722 บาท พร้อมเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 940,722 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2802-00351 80090 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2550 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2552 จำเลยนำเข้าสินค้ารถยนต์โดยสารจำนวน 202 คัน ซึ่งเป็นรถยนต์โดยสารรุ่นต่าง ๆ รวม 16 รุ่น ยี่ห้อ G. จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือ จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 43 ฉบับ รวมทั้งใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งนำเข้าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 และวันที่ 4 มกราคม 2551 ในคดีนี้ด้วย คือ ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2802 - 00351 - 80090 สำแดงชนิดของว่า "G." 10M NEW BUS XML6106 ENGINE MODEL 6CTL280-28820 CC รถยนต์โดยสารขนาด 42 ที่นั่ง เครื่องยนต์NGV เกียร์ธรรมดา นำเข้าวันที่ 10 ธันวาคม 2550 จำนวน 9 คัน ราคาของ USD 180,000 ราคาเป็นเงินไทย 6,114,042 บาท และใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 สำแดงชนิดของว่า "G." SLK6111UE6NA BUS BODY (BUS CKD) ENGINE MODEL SHANGHAI DIESEL T6114ZLQ3B 8268 CC CHASSIS MODEL FZ611OU6N ส่วนประกอบครบชุดสมบูรณ์ของรถยนต์โดยสารขนาด 37 ที่นั่ง เครื่องยนต์NGV นำเข้าวันที่ 4 มกราคม 2551 จำนวน 10 คัน ราคาของ USD 210,000 ราคาเป็นเงินไทย 7,095,501 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้า 43 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ ในคดีนี้มีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ได้เป็นราคาที่ได้ชำระจริงหรือที่ต้องชำระสำหรับของที่นำเข้าเมื่อได้มีการขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระขาดไป เมื่อนำเงินวางประกันมาหักชำระได้บางส่วนแล้วยังมีรายการจำนวนเงินภาษีอากรส่วนที่ขาด คือ ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2802-00351-80090 อากรขาเข้าขาด 1,561,337 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 383,771 บาท ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801-00351-80702 อากรขาเข้าขาด 3,838,160 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 940,722 บาท รวมอากรขาเข้าขาดทั้งสิ้น 5,399,497 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาดทั้งสิ้น 1,324,493 บาท จึงออกแบบแจ้งการประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ ไปยังจำเลยพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินและเอกสารดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินในส่วนอากรขาเข้า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ยกคำอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2802-00351-80090 โจทก์ทั้งสองไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 มีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้จำกัดให้เรียกเก็บเงินเพิ่มได้ไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม จำเลยจึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของต้นเงินอากรขาเข้าที่ชำระขาดตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 จำนวน 3,838,160 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 ธันวาคม 2560) จำนวน 4,490,648 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บังคับใช้กับการเรียกเก็บเงินเพิ่มในคดีนี้ เป็นการใช้กฎหมายบังคับย้อนหลังจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ในเดือนมกราคม 2551 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือจำเลยนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ.." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม…" เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าตามการประเมินโดยไม่คิดทบต้นในส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เว้นแต่เมื่อคำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 แล้ว เงินเพิ่มอากรขาเข้ายังไม่เท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมิน ก็ให้คำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าต่อไปจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ภษ.8/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - กรมศุลกากร กับพวก จำเลย - บริษัท บ.
ชื่อองค์คณะ สุนทร ทรงฤกษ์ วรงค์พร จิระภาค ชูเกียรติ ดิลกแพทย์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลภาษีอากรกลาง - นางสาวสุภา วิทยาอารีย์กุล
- นางสาวผจงธรณ์ วรินทรเวช