คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6156/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1173 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 42/2 (3)
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าของร่วมในอาคารชุดมอบอำนาจให้ผู้อื่นหรือเจ้าของร่วมคนอื่นกระทำการแทนตนเอง อีกทั้งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ม. ก็ไม่มีข้อกำหนดห้ามเช่นเดียวกัน การที่เจ้าของร่วมในคดีนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการแทนเกี่ยวกับการทำหนังสือขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดประชุมใหญ่วิสามัญ และการตั้งตัวแทนเพื่อการออกหนังสือนัดประชุมภายหลังจากที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของเจ้าของร่วมซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคะแนนเสียงทั้งหมด โดยการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เป็นการเฉพาะตัวในกิจการที่สำคัญที่เจ้าของร่วมจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง เจ้าของร่วมจึงมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแทนตนเองได้ บทบัญญัติมาตรา 1173 แห่ง ป.พ.พ. ไม่อาจนำมาบังคับใช้กับกรณีในคดีนี้ได้
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประชุมและมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2561
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของห้องชุดของอาคารชุด ไซมิส โดยเป็นคณะกรรมการรักษาการของนิติบุคคลอาคารชุด ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของห้องชุดรวม 24 ห้อง ของอาคารชุด วันที่ 24 ตุลาคม 2561 ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของร่วมและตัวแทนเจ้าของร่วมมีหนังสือขอให้คณะกรรมการรักษาการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 2/2561 โดยผู้คัดค้านได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจของเจ้าของห้องชุดไปพร้อมด้วย แต่นายวสวัตติ์ ผู้แทนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแจ้งว่าต้องตรวจสอบต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจก่อน วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 นิติบุคคลอาคารชุด มีหนังสือตอบปฏิเสธการขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เจ้าของร่วมอาคารชุด บางส่วน มีหนังสือแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นตัวแทนออกหนังสือนัดประชุมและกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2561 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เมื่อถึงวันประชุมผู้ร้องทั้งสองเข้าร่วมประชุมและลงมติด้วย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นการประชุมโดยชอบหรือไม่ และผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสองฎีกาอ้างว่าเจ้าของร่วมซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด ไม่ได้ลงลายมือชื่อขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเปิดประชุมใหญ่วิสามัญด้วยตนเอง และหนังสือมอบอำนาจของเจ้าของร่วมที่ผู้คัดค้านอ้างส่งไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร การทำหนังสือแจ้งขอเปิดประชุมและนัดประชุมเจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า มีเจ้าของร่วมที่มอบอำนาจคนใดคัดค้านว่าตนเองไม่ได้มอบอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ก็ไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าของร่วมในอาคารชุดมอบอำนาจให้ผู้อื่นหรือเจ้าของร่วมคนอื่นกระทำการแทนตนเอง อีกทั้งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ก็ไม่มีข้อกำหนดห้ามเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตามความเป็นจริงแล้วเจ้าของห้องชุดซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดแต่ละแห่งมีเป็นจำนวนมากและอาจมิได้พักอาศัยอยู่ในอาคารชุดทั้งหมด การที่จะบังคับให้เจ้าของร่วมทุกคนต้องดำเนินการด้วยตนเองเกี่ยวกับการประชุมใหญ่วิสามัญย่อมเป็นการยุ่งยาก การที่เจ้าของร่วมในคดีนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการแทนเกี่ยวกับการทำหนังสือขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดประชุมใหญ่วิสามัญ และการตั้งตัวแทนเพื่อการออกหนังสือนัดประชุม ภายหลังจากที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของเจ้าของร่วมซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคะแนนเสียงทั้งหมด โดยการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เป็นการเฉพาะตัวในกิจการที่สำคัญที่เจ้าของร่วมจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง เจ้าของร่วมจึงมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแทนตนเองได้ บทบัญญัติมาตรา 1173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่อาจนำมาบังคับใช้กับกรณีในคดีนี้ได้ ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ได้นำต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจแนบไปพร้อมกับหนังสือที่ขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบนั้น เห็นว่า กรณีไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเจ้าของร่วมที่เป็นผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปกระทำการตามที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจในการให้ดำเนินการให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ รวมถึงการตั้งตัวแทนในการทำหนังสือนัดประชุมและแจ้งวัดนัดประชุมใหญ่วิสามัญ การดำเนินการดังกล่าวของผู้คัดค้านจึงเป็นไปโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) อีกทั้งผู้ร้องทั้งสองยังได้เข้าร่วมประชุม และลงมติในการประชุมดังกล่าวในฐานะเจ้าของร่วมด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2561 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นการประชุมโดยชอบ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.645/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาย ส. กับพวก ผู้คัดค้าน - บริษัท ซ.
ชื่อองค์คณะ พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ เอกวิทย์ วัชชวัลคุ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายนรพัทธ์ นามวงศ์ ศาลอุทธรณ์ - นายธงชัย จันทร์วิรัช