คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2564
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 12 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 12
โจทก์ทั้งหกสิบบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจําเลย จําเลยดูแลรักษาและบริหารสนามกอล์ฟตลอดจนบริการอื่น ๆ ไม่ดี แต่จําเลยเพิ่มค่าบํารุงสนามรายปีโดยพลการ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบขายสิทธิการเป็นสมาชิกต่อได้ยากและราคาไม่ดี นอกจากนี้ยังตัดสิทธิสมาชิกตลอดชีพ คงเหลือ 30 ปี กับเพิ่มค่าโอนสิทธิให้ทายาทซึ่งเดิมไม่มีและเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิปีละ 2,400 บาท มีกำหนด 3 ปีจากสมาชิกที่ขอระงับสิทธิชั่วคราวซึ่งเดิมไม่ได้เรียกเก็บและบังคับหากสมาชิกใดไม่จ่ายค่าบํารุงรายปีตามราคาที่จําเลยต้องการ จําเลยจะไม่ออกตั๋วให้สมาชิกใช้สนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟ เป็นการกล่าวอ้างว่าจําเลยในฐานผู้ให้บริการขึ้นค่าบํารุงรายปี เพิ่มค่าโอนสิทธิ หรือออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเดือดร้อนจําต้องยอมจ่ายคําบํารุงโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจําเลยเป็นการกระทำผิดสัญญา นับว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบแล้ว โจทก์ทั้งหกสิบจึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ทั้งหกสิบยอมรับว่าจําเลยสามารถเปลี่ยนแปลงค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก หรือกำหนดข้อบังคับได้ตามความเหมาะสมเพียงแต่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จําเลยเรียกเก็บในอัตราที่ไม่เหมาะสมและเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งหกสิบซึ่งเป็นผู้บริโภคอันไม่เป็นธรรม และจําเลยไม่บำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้มีความเหมาะสมดังที่โฆษณาไว้เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบได้สิทธิการเป็นสมาชิกจากจําเลยก่อนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติว่าไม่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนําพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบกับจําเลยได้
เมื่อพิจารณาจากค่าบํารุงสนามรายปี ค่าโอนสมาชิก ค่ารักษาสิทธิของสมาชิกของสนามกอล์ฟของจําเลย เปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟอื่นที่อยู่ในย่านเดียวกันและมีมาตรฐานสนามระดับเดียวกัน เห็นได้ว่ามีอัตราที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบำรุงรักษาสนามรายปีของจําเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายปี 2549 ค่าโอนสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2546 และค่ารักษาสิทธิเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายในปี 2553 และโจทก์ทั้งหกสิบชําระเงินในอัตราที่จําเลยเรียกเก็บตลอดมา อันแสดงว่าจําเลยได้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสนามอื่นในระดับมาตรฐานสนามเดียวกัน การที่จําเลยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 แล้ว
โจทก์ทั้งหกสิบฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยลดค่าบำรุงสนามรายปีลงเหลือ 10,000 บาท ต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2561 และแสดงจำนวนสมาชิกและเงินค่าบำรุงสนามกอล์ฟที่เก็บได้ในแต่ละปีโดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองให้สมาชิกทราบ ให้ลดค่าโอนสิทธิสมาชิกคงเหลือ 20,000 บาท ตามเดิมตั้งแต่ปี 2561 และห้ามเรียกเก็บค่าโอนสิทธิให้กับทายาท ให้คงสิทธิตลอดชีพแก่สมาชิกเดิมและผู้รับโอนสิทธิสมาชิกตลอดชีพไว้ ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิ ห้ามปิดสนามเพื่อให้บุคคลภายนอกจัดแข่งขันโดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน และให้ปิดประกาศแสดงรายรับ-รายจ่ายในการใช้สนามให้สมาชิกทราบปีละ 2 ครั้ง ณ ที่ทำการของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเก็บค่าบำรุงสนามรายปีในอัตราคนละ 10,000 บาท เก็บค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิกในอัตรารายละ 20,000 บาท และเก็บค่ารักษาสิทธิจากสมาชิกที่ขอระงับการใช้สิทธิในอัตราร้อยละ 10 ของค่าบำรุงรายปี โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้อยู่ในสภาพดีตรงตามเอกสารประชาสัมพันธ์หมาย จ.2 ส่วนข้อกำหนดอายุสมาชิกให้คงตามที่กำหนดไว้ในใบสมัครสมาชิกหรือหนังสือโอนสิทธิแล้วแต่กรณี ห้ามจำเลยปิดสนามกอล์ฟเพื่อจัดการแข่งขันเว้นแต่จะได้แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอบังคับในส่วนที่ขอให้จำเลยคงเรียกเก็บค่าบำรุงสนามรายปีในอัตราคนละ 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิกในอัตรารายละ 20,000 บาท และงดเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิจากสมาชิกที่ขอระงับการใช้สิทธิชั่วคราวเสียด้วย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกสิบฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ ล. โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจำเลย ใบสมัครสมาชิกและบันทึกข้อตกลงการโอนสิทธิมีข้อตกลงกรณีสมัครสมาชิก ข้อ 2.1 ระบุว่า ในกรณีการโอนสมาชิกนี้ให้แก่บุคคลอื่นโดยวิธีการโอนสิทธิซึ่งไม่ว่าด้วยประการใดก็ตามจะมีผลต่อเมื่อบริษัทได้ตกลงเห็นชอบด้วยเป็นลายลักษณ์อักษร ในการพิจารณารับผู้รับโอนเป็นสมาชิกใหม่แทน พร้อมทั้งบริษัทได้รับเงินประกันและรับชำระเงินค่าธรรมเนียมการโอนครบถ้วน ข้อ 5 ระบุว่า สมาชิกยินยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวที่มีอยู่ในขณะนี้ และที่จะพึงมีต่อไปภายหน้าทุกประการ ส่วนกรณีรับโอนสิทธิมีข้อตกลงข้อ 8 ระบุว่า ผู้รับโอนตกลงที่จะชำระค่าบำรุงรักษาสนามกอล์ฟรายปีให้แก่บริษัทตามอัตราที่บริษัทกำหนดตลอดไป เดิมจำเลยประกาศข้อกำหนดสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกำหนดให้สมาชิกภาพมีระยะเวลาตลอดชีพ ข้อ 2.4 ระบุว่า ข้อตกลงในการโอนสมาชิกว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยและยอมรับสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบใหม่ และต้องดำเนินการดังนี้… (2) จำเลยได้รับเงินประกันการเป็นสมาชิกจากสมาชิกจากสามัญคนใหม่และได้รับค่าธรรมเนียมการโอนกรณีสมาชิกแบบบุคคลธรรมดา 20,000 บาท สมาชิกแบบนิติบุคคล 50,000 บาท มีตกลงในข้อ 2.4 (4) คลับสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงิน และวิธีการชำระเงินประกันการเป็นสมาชิกและค่าธรรมเนียมการโอนได้ตามความเหมาะสม ข้อ 4 กำหนดค่าบำรุงสำหรับสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาปีละ 6,000 บาท สมาชิกแบบนิติบุคคล 18,000 บาท มีหมายเหตุว่า จำเลยสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงอัตรา และวิธีการชำระค่าบำรุงได้ตามความเหมาะสม สมาชิกภาพของสโมสรกอล์ฟจำเลยมีที่มา 3 ทาง คือ ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการของบริษัท ล. แล้วได้แถมสิทธิการเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจำเลย หรือซื้อบัตรสมาชิกซึ่งโจทก์ที่ 3 และที่ 28 ได้ชำระเงินค่าบัตรสมาชิกเป็นเงิน 400,000 บาท หรือสมัครโดยซื้อบัตรสมาชิกจากจำเลยโดยตรงหรือรับโอนสิทธิความเป็นสมาชิกภาพจากสมาชิกเดิมด้วยวิธีการซื้อขายหรือโอนให้สิทธิให้แก่ทายาทโดยต้องได้รับความยินยอมจากจำเลย วันที่ 26 ตุลาคม 2536 จำเลยแจ้งค่าบำรุงสมาชิกรายปีประจำปี 2537 ปรับเพิ่มค่าบำรุงสำหรับสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาปีละ 10,000 บาท วันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 จำเลยแจ้งค่าบำรุงสมาชิกรายปีประจำปี 2537 ปรับเพิ่มค่าบำรุงสำหรับสมาชิกธรรมดาปีละ 10,000 บาท สมาชิกนิติบุคคล (จำนวน 3 คน คนละ 10,000 บาท) ปีละ 30,000 บาท โดยอ้างว่ารายได้จากค่ากรีนฟีไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษาสนามกอล์ฟ และกำหนดให้สมาชิกที่ไม่สามารถใช้บริการ Non-Active Member สามารถนำบัตรสมาชิกมาคืนโดยไม่ต้องชำระค่าบำรุงรายปี หากต้องการใช้บริการสนามกอล์ฟสามารถทำได้โดยชำระค่ากรีนฟีในอัตราเดียวกับบุคคลภายนอกจนกว่าจะขอรับบัตรสมาชิกใหม่ วันที่ 27 มกราคม 2547 จำเลยแจ้งปรับค่าบำรุงรายปีสำหรับสมาชิกบุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 18,000 บาท และวันที่ 1 มกราคม 2549 จำเลยแจ้งปรับค่าบำรุงสำหรับสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาปี 2549 เพิ่มเป็น 24,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2553 จำเลยมีหนังสือแจ้งระเบียบการแจ้งระงับการใช้สิทธิสมาชิกกอล์ฟ โดยกำหนดให้สมาชิกที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปต้องทำหนังสือแจ้งระงับสิทธิพร้อมคืนบัตรสมาชิก และต้องชำระค่ารักษาสิทธิ ปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ในอัตราร้อยละ 10 ของค่าบำรุงสมาชิกรายปีซึ่งเท่ากับปีละ 2,400 บาท และปีที่ 4 เป็นต้นไปจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาในอัตราปกติ วันที่ 15 กันยายน 2546 จำเลยเปลี่ยนแปลงค่าโอนสมาชิกจาก 20,000 บาท เป็น 90,000 บาท สำหรับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ห้ามจำเลยปิดสนามกอล์ฟเพื่อจัดการแข่งขันเว้นแต่จะแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน นั้น จำเลยไม่อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งหกสิบได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ทั้งหกสิบมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกสิบบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจำเลย จำเลยดูแลรักษาและบริหารสนามกอล์ฟตลอดจนบริการอื่น ๆ ไม่ดี แต่จำเลยเพิ่มค่าบำรุงสนามรายปีจาก 6,000 บาท เป็นเงิน 10,000 บาท และ 24,000 บาท เพิ่มค่าโอนสิทธิสมาชิกจาก 20,000 บาท เป็น 90,000 บาท โดยพลการ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบขายสิทธิการเป็นสมาชิกต่อได้ยากและได้ราคาไม่ดี นอกจากนี้ยังตัดสิทธิผู้รับโอนสิทธิสมาชิกตลอดชีพ คงเหลือ 30 ปี กับเพิ่มค่าโอนสิทธิให้ทายาทซึ่งเดิมไม่มีด้วย และเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิปีละ 2,400 บาท มีกำหนดสามปี จากสมาชิกที่ขอระงับสิทธิชั่วคราวซึ่งเดิมไม่ได้เรียกเก็บ และบีบบังคับหากสมาชิกใดไม่จ่ายค่าบำรุงรายปีตามราคาที่จำเลยต้องการ จำเลยก็จะไม่ออกตั๋วให้สมาชิกใช้สนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบต้องยอมจ่ายค่าบำรุงรายปีโดยไม่สมัครใจ ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกสิบดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยในฐานะผู้ให้บริการขึ้นค่าบำรุงรายปี เพิ่มค่าโอนสิทธิ หรือออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบที่เป็นสมาชิกโดยไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับการบริหารงานของจำเลยที่ปล่อยให้สนามกอล์ฟมีสภาพไม่ดี แต่ขึ้นค่าบำรุงสนาม ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเดือดร้อนจำต้องยอมจ่ายค่าบำรุงรายปีโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดสัญญา นับว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบแล้ว โจทก์ทั้งหกสิบจึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหกสิบไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งหกสิบฟังขึ้น
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปรับลดค่าบำรุงสนามรายปีจาก 24,000 บาท ลงเหลือ 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิกจาก 90,000 บาท ลงเหลือ 20,000 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิกที่ไม่ได้ใช้สนามกอล์ฟจาก 3 ปี ปีละ 2,400 บาท จากนั้นเก็บเต็มปีละ 24,000 บาท เป็นร้อยละ 10 ต่อปี ตลอดไปตั้งแต่ปี 2562 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ชอบหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นว่า ตามใบสมัครสมาชิกและบันทึกข้อตกลงการโอนสิทธิ กรณีสมัครสมาชิกมีข้อตกลงในกรณีการโอนสมาชิกนี้ให้แก่บุคคลอื่นจะมีผลต่อเมื่อจำเลยได้ตกลงเห็นชอบด้วยเป็นลายลักษณ์อักษร ในการพิจารณารับผู้รับโอนเป็นสมาชิกใหม่แทน พร้อมทั้งจำเลยได้รับเงินประกัน และรับชำระเงินค่าธรรมเนียมการโอนครบถ้วน และข้อตกลงว่าสมาชิกยินยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวที่มีอยู่ในขณะนี้และที่จะพึงมีต่อไปภายหน้าทุกประการ ส่วนกรณีรับโอนสิทธิมีข้อตกลงว่า ผู้รับโอนตกลงที่จะชำระค่าบำรุงรักษาสนามกอล์ฟรายปีให้แก่บริษัทตามอัตราที่บริษัทกำหนดตลอดไป จำเลยประกาศข้อกำหนดสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกำหนดให้สมาชิกภาพมีระยะเวลาตลอดชีพ ข้อ 2.4 ระบุว่า ข้อตกลงในการโอนสมาชิกว่าต้องได้รับความชอบจากจำเลยและยอมรับสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบใหม่ และต้องดำเนินการดังนี้… (2) จำเลยได้รับเงินประกันการเป็นสมาชิกจากสมาชิกจากสามัญคนใหม่และได้รับค่าธรรมเนียมการโอนกรณีสมาชิกแบบบุคคลธรรมดา 20,000 บาท สมาชิกแบบนิติบุคคล 50,000 บาท และข้อ 2.4 (4) คลับสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงิน และวิธีการชำระเงินประกันการเป็นสมาชิกและค่าธรรมเนียมการโอนได้ตามความเหมาะสม ข้อ 4 กำหนดค่าบำรุงสำหรับสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาปีละ 6,000 บาท สมาชิกแบบนิติบุคคล 18,000 บาท มีหมายเหตุว่า จำเลยสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงอัตรา และวิธีการชำระค่าบำรุงได้ตามความเหมาะสม ดังนี้ โจทก์ทั้งหกสิบกับจำเลยมีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินค่าบำรุงสนาม ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิก และสามารถออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาสิทธิสมาชิกได้ตามความเหมาะสม ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2536 จำเลยแจ้งค่าบำรุงสมาชิกรายปีประจำปี 2537 จนกระทั่งครั้งสุดท้าย วันที่ 1 มกราคม 2549 จำเลยแจ้งปรับค่าบำรุงสำหรับสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาปี 2549 เพิ่มเป็น 24,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2553 จำเลยมีหนังสือแจ้งระเบียบการแจ้งระงับการใช้สิทธิสมาชิกกอล์ฟ โดยกำหนดให้สมาชิกที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปต้องทำหนังสือแจ้งระงับสิทธิพร้อมคืนบัตรสมาชิก และต้องชำระค่ารักษาสิทธิ ปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ในอัตราร้อยละ 10 ของค่าบำรุงสมาชิกรายปีซึ่งเท่ากับปีละ 2,400 บาท และปีที่ 4 เป็นต้นไปจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกแบบบุคคลธรรมดาในอัตราปกติ และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 จำเลยได้เปลี่ยนแปลงค่าโอนสมาชิกจาก 20,000 บาท เป็น 90,000 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งหกสิบก็ยินยอมชำระอัตราที่จำเลยเรียกเก็บตลอดมา แสดงว่าโจทก์ทั้งหกสิบยอมรับว่าจำเลยสามารถเปลี่ยนแปลงค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิก หรือกำหนดข้อบังคับได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จำเลยเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวไม่เหมาะสม และเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งหกสิบซึ่งเป็นผู้บริโภคอันไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่บำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้มีความเหมาะสมดังที่โฆษณาไว้เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบได้สิทธิการเป็นสมาชิกจากจำเลยโดยมีรายละเอียดข้อตกลงมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2537 ก่อนมีพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่าไม่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกำหนดตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบกับจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้จึงไม่ถูกต้อง ส่วนกรณีของจำเลยจะต้องด้วยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 หรือไม่ นั้น ตามมาตรา 12 บัญญัติขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิ และในการชำระหนี้ให้สูงกว่าที่บุคคลทั่วไปมีดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้เดิม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจในกิจการทำนองเดียวกันปฏิบัติต่อผู้บริโภค ทั้งต้องมีจริยธรรมในการประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ ดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเลือกวิธีการ ใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่าระดับมาตรฐานความสุจริตดังกล่าว ย่อมถือว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต ซึ่งศาลไม่อาจบังคับให้ผู้บริโภคต้องชำระค่าบำรุงรักษาสนามหรือค่าธรรมเนียมต่างแก่ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใช้สิทธิไม่สุจริตได้แม้มีข้อสัญญาบังคับผูกพันลูกหนี้ทำนองเปิดช่องไว้ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำได้ก็ตาม เนื่องจากเป็นการไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค บทบัญญัตินี้สามารถใช้บังคับได้แม้เป็นนิติกรรมหรือสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้บังคับหากกรณีต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้โจทก์ทั้งหกสิบฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบริหารสนามกอล์ฟมีความชำรุดทรุดโทรมก็ตาม แต่นายบันฑูร ที่ปรึกษาของสมาคมสนามกอล์ฟไทย พยานจำเลยเบิกความว่า การจัดการแข่งขันกอล์ฟ สนามกอล์ฟต้องมีสภาพที่ดี บริการที่ดี หรือค่าบริการถูก พยานไปเล่นกอล์ฟที่สนามของจำเลย ถือว่าสภาพสนามดี เป็นสนามกอล์ฟ 18 หลุมของจำเลย มีพื้นที่ 450 ไร่ จึงไม่สามารถบำรุงรักษาสภาพสนามสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ การดูภาพถ่ายบางภาพเช่นภาพที่ 1 ไม่สามารถประเมินได้ว่าสนามมีคุณภาพดีหรือไม่ดี และสนามกอล์ฟอื่นก็อาจจะมีบางพื้นที่มีสภาพตามที่ปรากฏตามภาพถ่าย สำหรับภาพถ่ายด้านบนทางขวามือที่เห็นจุดสีขาวนั้นเป็นภาพถ่ายร่องรอยของการที่หน้าเหล็กกัดดินขณะกระทบลูกกอล์ฟที่เรียกว่าไดวอท ซึ่งเป็นสภาพปกติย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งแคดดี้ต้องนำทรายมากลบอันเป็นการบำรุงรักษาสนามกอล์ฟตามปกติ และภาพถ่ายแผ่นที่ 5 ด้านล่างซ้ายมือมีลักษณะเป็นหญ้ายาวเนื่องจากสนามกอล์ฟทำไว้เพื่อลงโทษนักกอล์ฟที่ตีลูกหลุดออกจาก Fairway ภาพถ่ายแผ่นที่ 13 สภาพเหมือนเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการซ่อมบำรุง หากนักกอล์ฟตีลูกเข้าไปอยู่บริเวณดังกล่าวก็สามารถนำลูกกลับมาวางใน Fairway ได้ ไม่เสียคะแนน ส่วนภาพถ่ายแผ่นที่ 2 สะพานในภาพไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสนามกอล์ฟ ที่ปรากฏน้ำขังอยู่ในหลุมทรายนั้น หากถ่ายรูปหลังจากฝนตกย่อมมีน้ำขังเพราะยังระบายไม่ทัน และตามภาพถ่ายที่มีสุนัขอยู่ในสนามก็เป็นสภาพปกติ ภาพถ่ายแผ่นที่ 4 เป็นภาพของการโรยทรายในบริเวณที่หญ้าตายเพื่อให้หญ้าขึ้นใหม่ พยานจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดน่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามข้อเท็จจริง ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบหนังสือกอล์ฟเฟอร์สแควร์ที่ระบุว่าสนามกอล์ฟของจำเลยมีสภาพสนามที่ดีมีมาตรฐานระดับสากล และตามภาพถ่ายซึ่งเป็นภาพถ่ายสนามกอล์ฟของจำเลยก็มีสภาพปกติ ดังนี้ สภาพสนามกอล์ฟของจำเลยจึงไม่ได้แสดงว่าจำเลยบริหารสนามกอล์ฟไม่ดีทำให้สภาพชำรุดทรุดโทรมดังที่โจทก์ทั้งหกสิบกล่าวอ้าง ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ก็รับว่า จำเลยนำสนามกอล์ฟเปิดการแข่งขันหลายครั้งต่อปี อันเป็นการแสดงว่าสนามกอล์ฟของจำเลยมีสภาพปกติจนเป็นเหตุทำให้บุคคลทั่วไปสนใจใช้เป็นสนามเพื่อการแข่งขัน ส่วนที่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จำเลยเรียกเก็บค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก ค่ารักษาสิทธิสมาชิกที่ไม่ได้ใช้สนามกอล์ฟ เป็นการเรียกเก็บที่ไม่ธรรมแก่โจทก์ทั้งหกสิบ และเป็นการออกข้อบังคับที่ไม่ชอบ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยมีสิทธิเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินค่าบำรุงสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก และกำหนดข้อบังคับการเก็บค่ารักษาสิทธิสมาชิกที่ไม่ได้ใช้สนามกอล์ฟได้ตามความเหมาะสม และตามคำเบิกความของนางปราณี พยานจำเลยว่า ราคาค่าเล่นกอล์ฟ ค่าบำรุงรักษา สนามกอล์ฟ ค่ารักษาสิทธิเป็นสมาชิก ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิสมาชิก กฎ ระเบียบและข้อบังคับของสนามกอล์ฟของจำเลยนั้น มีมาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟ ธ. สนาม ก. สนาม ซ. สนาม พ. และ สนาม อ. ที่อยู่ในย่านใกล้เคียงกัน และมีมาตรฐานสนามระดับเดียวกัน ก็มีราคาใกล้เคียงกัน และตามข้อมูลอัตราการจัดเก็บค่าโอนสมาชิก ค่าบำรุงรายปี ค่ารักษาสิทธิสนามอื่น ๆ ปรากฏว่า สนาม ธ. มีขนาด 18 หลุม มีการเรียกเก็บค่าบำรุงสนามรายปี 75,000 บาทสำหรับสมาชิกใหม่ที่รับโอน ส่วนสมาชิกเดิมปีละ 18,000 บาท ค่าโอนสิทธิสมาชิก 20,000 บาท โอนให้แก่บุคคลในครอบครัว 1,000 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิก 1,200 บาทมีกำหนด 1 ปี สนาม ก. มีขนาด 18 หลุม มีการเรียกเก็บค่าบำรุงสนามรายปี 25,680 บาท ค่าโอนสิทธิสมาชิกให้แก่บุคคลอื่น 42,800 บาท โอนสิทธิสมาชิกแก่บุคคลในครอบครัว 10,700 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิก 6,420 บาท มีกำหนด 1 ปี สนาม ซ. มีขนาด 18 หลุม เก็บค่าบำรุงสนามรายปี 24,000 บาท ค่าโอนสิทธิสมาชิกให้แก่บุคคลอื่น 70,000 บาท โอนสิทธิสมาชิกแก่บุคคลในครอบครัว 35,000 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิกปีที่ 1 จำนวน 4,800 บาท ปีที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ปีที่ 3 จำนวน 19,200 บาท สนาม พ. มีขนาด 27 หลุม เก็บค่าบำรุงสนามรายปี 29,425 บาท ค่าโอนสิทธิสมาชิกให้แก่บุคคลอื่นและบุคคลในครอบครัว 64,200 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิกไม่มี มีระยะเวลา 1 ปี และสนาม อ. มีขนาด 18 หลุม เก็บค่าบำรุงสนามรายปี 30,000 บาท ค่าโอนสิทธิสมาชิกให้แก่บุคคลอื่นและบุคคลในครอบครัว 90,000 บาท ค่ารักษาสิทธิสมาชิกไม่มี ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากค่าบำรุงสนามรายปี ค่าโอนสิทธิของสมาชิก ค่ารักษาสิทธิของสมาชิกของสนามกอล์ฟของจำเลยเปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟอื่นดังกล่าวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบำรุงรักษาสนามรายปีของจำเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายในปี 2549 ค่าโอนสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2546 และค่ารักษาสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2553 และโจทก์ทั้งหกสิบได้ชำระค่าเงินในอัตราที่จำเลยเรียกเก็บตลอดมา อันเป็นการแสดงว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสนามกอล์ฟอื่นที่มีระดับมาตรฐานระดับเดียวกัน การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 แล้ว ที่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)337/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อ. กับพวก จำเลย - บริษัท ล.
ชื่อองค์คณะ สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์ ประทีป อ่าววิจิตรกุล เศกสิทธิ์ สุขใจ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นางสาวเสาวภาคย์ วงศ์ไวทยากูร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสิทธิพร บุญยฤทธิ์