สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 193/34 (16), 602 วรรคหนึ่ง

ค่าจ้างว่าความซึ่งโจทก์ตั้งเป็นมูลฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นจะมีผลบังคับต่อเมื่อจำเลยที่ 1 บังคับคดีลูกหนี้ในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีได้เงินมา โจทก์ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวได้ติดตามยึดทรัพย์ของลูกหนี้และอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน ตราบใดที่โจทก์ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ยังบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ย่อมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างว่าความได้ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องจึงยังไม่เริ่มนับ เช่นนี้แม้จะได้ความว่าลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานที่โจทก์ทำและพึงใช้ค่าจ้างว่าความในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ใช่การกระทำของโจทก์ที่ส่งมอบงาน แต่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนโดยไม่ได้แจ้งแก่โจทก์ถึงผลงานดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงจำนวนหนี้และกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 พึงใช้ค่าการงานที่ทำให้ และเมื่อโจทก์รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ย่อมต้องถือว่าเป็นเวลาแรกที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนไปครบถ้วน เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 จึงไม่เกินกว่า 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (16) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 297,571.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 235,118 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 208,571.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าทนายความให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันในศาลว่า โจทก์ประกอบวิชาชีพทนายความ เมื่อปี 2552 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้ฟ้องร้องเรียกค่าสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. กับพวกรวม 4 คน โดยตกลงค่าจ้างว่าความอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ได้รับจากลูกหนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 โจทก์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าสินค้าจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1663/2552 และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,731,738.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ชั้นบังคับคดี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ไปครบถ้วนแล้ว เป็นเงิน 2,350,000 บาท โดยโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าคิดเป็นค่าจ้างว่าความตามที่ตกลงกับโจทก์ 235,118 บาท และคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินจากลูกหนี้จนถึงวันฟ้อง คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นดอกเบี้ย 62,453.22 บาท โดยคู่ความรับกันถึงยอดหนี้ค่าจ้างว่าความที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระแก่โจทก์ 208,571.22 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ปัญหาข้อนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดและคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ยกเหตุผลประกอบข้อฎีกาว่า แม้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ แต่โจทก์ยังไม่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เพราะโจทก์ไม่รู้ถึงเหตุการณ์ที่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันจะทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบงานแก่จำเลยที่ 1 เพราะงานที่โจทก์รับจ้างยังไม่แล้วเสร็จ อายุความยังไม่เริ่มนับ โจทก์พยายามติดตามยึดทรัพย์ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ ในการเจรจากับลูกหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งผลการเจรจาให้โจทก์ทราบและแจ้งว่า ยังไม่ได้รับชำระหนี้ จนกระทั่งกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 โจทก์ทราบจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าได้ชำระหนี้หมดแล้ว จึงทวงถามตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 เอกสารแนบท้ายฎีกา และเมื่อตรวจสำนวนคดีดังกล่าวในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ถอนการยึดและถอนการบังคับคดีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป … กรณีจึงต้องพิจารณาถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเรื่องนี้ว่า โจทก์สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เมื่อใด ค่าจ้างว่าความซึ่งโจทก์ตั้งเป็นมูลฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นจะมีผลบังคับต่อเมื่อจำเลยที่ 1 บังคับคดีลูกหนี้ในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีได้เงินมา โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้คัดค้านตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2561 ว่าโจทก์ในฐานะทนายความได้ติดตามยึดทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีดังกล่าวและอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงินเช่นนี้ แม้จะได้ความว่าลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานที่โจทก์ทำและพึงใช้ค่าจ้างว่าความในวันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นมาปรับแก่คดี เพราะไม่ใช่การกระทำของโจทก์ที่ส่งมอบงานเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เองกรณีนี้เป็นเรื่องที่ยังมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ค่าจ้างว่าความจะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์บังคับคดีลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้แล้ว ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เพราะตราบใดที่โจทก์ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ยังบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ย่อมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างว่าความได้ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องจึงยังไม่เริ่มนับ การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนโดยไม่ได้แจ้งแก่โจทก์ถึงผลงานดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงจำนวนหนี้และกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 พึงใช้เป็นค่าการงานที่ทำให้และเมื่อโจทก์รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ย่อมต้องถือว่าเป็นเวลาแรกที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้หาใช่นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนไม่ เพราะไม่ใช่เวลาที่โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างว่าความและจะถือว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่บังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนไม่ได้เพราะหากยังไม่มีจำนวนหนี้ที่แน่นอนและไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ อายุความยังไม่เริ่มนับ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนไปครบถ้วน คือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 จึงไม่เกินกว่าสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง เมื่อระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของค่าจ้างว่าความจำนวน 208,571.22 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไข และรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย 1 ชำระเงิน 208,571.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุกทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)317/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อ. จำเลย - บริษัท น. กับพวก

ชื่อองค์คณะ นพรัตน์ สี่ทิศประเสริฐ แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนาทวี - นายธวัช พงศ์สุธางค์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายปกรณ์ แต้ประจิตร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th