สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11

สัญญาค้ำประกันตอนแรกกำหนดวงเงินค้ำประกันแน่นอนเป็นเงิน 45,000,000 บาท แต่ตอนต่อมากลับระบุให้รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระโดยไม่จำกัดความรับผิด อันเป็นการขัดแย้งกันไม่แน่ชัดว่าเป็นการค้ำประกันโดยจำกัดความรับผิดหรือไม่ กรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้บริโภคคู่กรณีฝ่ายที่จะต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 แปลความได้ว่าสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงินไม่เกิน 45,000,000 บาท

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงิน 84,096,734.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ของต้นเงิน 49,841,139.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งแปดไม่ชำระให้ยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งแปดและหรือทรัพย์จำนองห้องชุดเลขที่ 39/9 ชั้นที่ 1 ห้องชุดเลขที่ 39/110, 39/111, 39/112, 39/113, 39/114 ห้องชุดเลขที่ 43/110 และห้องชุดเลขที่ 49/59 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 7/2538 พร้อมส่วนควบตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 752 ถึง 758, 760, 1261, 102495, 127144 พร้อมส่วนควบ และยึดทรัพย์จำนำหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ตามใบหุ้นเลขที่ 06050100001033 จำนวน 25,000,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 06050100001032 จำนวน 10,000,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 06050100001031 จำนวน 5,000,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 8 ออกจากสารบบความ

ก่อนสืบพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 7 สละคำให้การในข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 4 และข้อที่ 9 ถึงข้อที่ 10

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 23,146,817.15 บาท สัญญากู้ยืมเงิน 2,195,253.37 บาท และสัญญาสินเชื่อตั๋วเงิน 24,822,526.79 บาท รวมเป็นเงิน 50,164,597.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 49,841,139.02 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระในวงเงิน 4,500,000 บาท และจำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระในวงเงิน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของจำนวนวงเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงิน 383,084.42 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และเงิน 23,250,000 บาท มาหักชำระหนี้ดังกล่าวด้วย โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเหลือจึงให้หักชำระต้นเงิน หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองคือ ห้องชุดเลขที่ 39/9, 39/110, 39/111, 39/112, 39/113, 39/114, 43/110 และเลขที่ 49/59 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 7/2538 พร้อมส่วนควบซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 752 ถึง 758, 760, 1261, 102495 และ 127144 พร้อมส่วนควบ และยึดทรัพย์จำนำหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ใบหุ้นเลขที่ 06050100001033 จำนวน 25,000,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 06050100001032 จำนวน 10,000,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 06050100001031 จำนวน 5,000,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และ ที่ 6 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 22,878,438.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นตามอัตราที่โจทก์คิดแก่จำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2552 จำนวน 527,000 บาท วันที่ 30 เมษายน 2552 จำนวน 527,000 บาท วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 จำนวน 527,000 บาท วันที่ 30 มิถุนายน 2552 จำนวน 527,000 บาท วันที่ 3 สิงหาคม 2552 จำนวน 140,000 บาท วันที่ 31 สิงหาคม 2552 จำนวน 143,000 บาท วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 140,000 บาท วันที่ 30 ตุลาคม 2552 จำนวน 140,000 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 140,000 บาท วันที่ 30 ธันวาคม 2552 จำนวน 140,000 บาท และวันที่ 16 มิถุนายน 2553 จำนวน 338,084.42 บาท หักชำระหนี้ด้วย โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเหลือจึงหักชำระต้นเงินและให้นำเงินที่เบิกถอนรวมเข้าเป็นยอดหนี้ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยในวันที่ 31 มีนาคม 2552 จำนวน 332,930.88 บาท วันที่ 30 เมษายน 2552 จำนวน 312,122.70 บาท วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 จำนวน 312,614.35 บาท และวันที่ 30 มิถุนายน 2552 จำนวน 332,930.88 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 2,195,253.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 2,194,321.87 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงินตามสัญญาสินเชื่อตั๋วเงิน 24,822,526.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 24,500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดเลขที่ 43/110 พร้อมส่วนควบ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 39/112 ร่วมกับห้องชุดของจำเลยที่ 3 เลขที่ 39/110, 39/111 และ 39/114 และห้องชุดของจำเลยที่ 4 เลขที่ 39/113 ในวงเงิน 8,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ยึดห้องชุดดังกล่าวและส่วนควบขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองห้องชุดเลขที่ 39/110, 39/111 และ 39/114 ร่วมกับห้องชุดเลขที่ 39/112 และ 39/113 ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับในวงเงิน 8,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระหนี้ให้ยึดห้องชุดดังกล่าวพร้อมด้วยส่วนควบของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 5 และที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาสินเชื่อตั๋วเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 39/9 ในวงเงิน 4,500,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ชำระหนี้ให้ยึดห้องชุดดังกล่าวพร้อมด้วยส่วนควบขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 6 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และให้จำเลยที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนำตราสารใบหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ในหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 15,000,000 บาท หากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระให้นำหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ใบหุ้นเลขที่ 0605010000-742 จำนวน 10,000,000 หุ้น และเลขที่ 0605010000-743 จำนวน 5,000,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 6 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำพิพากษาศาลขั้นต้นที่ให้ยึดทรัพย์จำนำหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ใบหุ้นเลขที่ 0605010000-1033 จำนวน 25,000,000 หุ้น ของจำเลยที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 8 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2549 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ท. และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 3,500,000 บาท โดยใช้บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดต่อกัน ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 20,000,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 23,500,000 บาท และทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร ท. วันที่ 11 มกราคม 2549 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000,000 บาท วันที่ 13 มกราคม 2549 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองห้องชุดเลขที่ 39/110, 39/111, 39/114 เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 8,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 39/112 เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงิน เงื่อนไข และสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ดังกล่าว และจำเลยที่ 4 ทำสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 39/113 เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงิน เงื่อนไข และสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ดังกล่าว วันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาสินเชื่อตั๋วเงินกับธนาคาร ท. วงเงิน 4,500,000 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองห้องชุดเลขที่ 43/110 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 4,500,000 บาท และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 49/59 ตามจำนวนเงิน เงื่อนไข และสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ดังกล่าว และจำเลยที่ 6 ทำสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 39/9 ตามจำนวนเงิน เงื่อนไข และสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ดังกล่าว วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 7 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 45,000,000 บาท วันที่ 4 ธันวาคม 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาสินเชื่อตั๋วเงินกับธนาคาร ท. วงเงิน 15,000,000 บาท โดยวันดังกล่าวจำเลยที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000,000 บาท และจำเลยที่ 6 ทำสัญญาจำนำตราสารใบหุ้นของบริษัท ด. จำนวน 10,000,000 หุ้น จำนวนเงิน 10,000,000 บาท แก่ธนาคาร ท. และวันที่ 11 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาสินเชื่อตั๋วเงินกับธนาคาร ท. วงเงิน 5,000,000 บาท โดยวันดังกล่าวจำเลยที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท และจำเลยที่ 6 ทำสัญญาจำนำตราสารใบหุ้นของบริษัท ด. จำนวน 5,000,000 หุ้น จำนวนเงิน 5,000,000 บาท แก่ธนาคาร ท.

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคในส่วนการบังคับทรัพย์จำนองและจำนำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้บังคับจำนองห้องชุดเลขที่ 49/59 ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการทำคำพิพากษาตกหล่น และพิพากษาให้บังคับจำนำหุ้นระบุเลขที่ใบหุ้นไม่ถูกต้องตรงความจริง นั้น เห็นว่า ในส่วนของการบังคับจำนองห้องชุดเลขที่ 49/59 ของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ในคำพิพากษาหน้า 32 ว่า "…และจำเลยที่ 3 จำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 49/59 ในวงเงินเดิม 4,500,000 บาท จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 8,000,000 บาท และร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันในวงเงิน 4,500,000 บาท กับต้องรับผิดตามสัญญาจำนองห้องชุดดังกล่าว…" อันเป็นการวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาจำนองห้องชุดเลขที่ 49/59 แล้ว แต่ในส่วนพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับมิได้ระบุเรื่องการบังคับจำนองห้องชุดเลขที่ 49/59 ไว้ ไม่สอดคล้องตรงตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนการบังคับจำนำหุ้นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมที่จำเลยที่ 6 นำมาจำนำไว้แก่ธนาคาร ท. เป็นหุ้นของบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ใบหุ้นเลขที่ 0605010000-742 และเลขที่ 0605010000-743 ต่อมามีการเปลี่ยนใบหุ้นใหม่เป็นใบหุ้นเลขที่ 06050100001031 และเลขที่ 06050100001032 ดังนี้ ใบหุ้นเดิมเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปโดยปริยายไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงการถือหุ้นได้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้บังคับจำนำหุ้นของบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ตามใบหุ้นเลขที่เดิม น่าเชื่อว่าเกิดจากความผิดหลงอันถือเป็นกรณีคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้ กรณีมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยแก้ไขเลขที่ใบหุ้นเป็นเลขที่ 06050100001031 และเลขที่ 06050100001032 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 7 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 7 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคาร ท. ทุกลักษณะหนี้ ทั้งหนี้ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะมีขึ้นในภายหน้า จำเลยที่ 7 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และหากจำเลยที่ 7 ไม่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ศาลต้องมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 7 นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ในปัญหาแรกตามสัญญาค้ำประกันข้อ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 7 ค้ำประกันการชำระหนี้ในหนี้ทุกประเภท ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีอยู่ก่อนวันทำสัญญา ในวันทำสัญญาหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 45,000,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระด้วย โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดความรับผิด เห็นว่า ข้อสัญญาตอนแรกกำหนดวงเงินค้ำประกันแน่นอนเป็นเงิน 45,000,000 บาท แต่ตอนต่อมากลับระบุให้รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระโดยไม่จำกัดความรับผิด อันเป็นการขัดแย้งกันไม่แน่ชัดว่าเป็นการค้ำประกันโดยจำกัดความรับผิดหรือไม่ กรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้บริโภคคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 แปลความได้ว่าสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิดรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงินไม่เกิน 45,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม กรณีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดในลักษณะเป็นเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป จำเลยที่ 7 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้ที่ค้างชำระตามวงเงินค้ำประกัน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราและนับแต่วันเวลาเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 อันเป็นวันทำสัญญาค้ำประกันดังที่โจทก์ฎีกา ปัญหาประการที่สอง กรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ศาลต้องมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 7 นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่ากระบวนการในชั้นบังคับคดีเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งภายหลังศาลมีคำพิพากษาและจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โดยให้อำนาจแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับตามคำพิพากษาและคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุผลตามคำพิพากษาโดยคำพิพากษาไม่ต้องกล่าวถึงวิธีการบังคับคดีแต่ละกรณีไว้ด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 7 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นความรับผิดในมูลหนี้สามัญและเป็นหนี้เงิน ดังนี้ แม้ไม่ได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาให้อำนาจโจทก์ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 7 กรณีจำเลยที่ 7 ไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ห้องชุดเลขที่ 49/59 ร่วมกับห้องชุดเลขที่ 39/9 ของจำเลยที่ 6 ในวงเงิน 4,500,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ไม่ชำระหนี้ให้ยึดห้องชุดดังกล่าวพร้อมด้วยส่วนควบขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 และที่ 6 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ในวงเงิน 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ ให้จำเลยที่ 6 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนำตราสารใบหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ในหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 15,000,000 บาท หากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระให้นำหุ้นบริษัท ด. หรือบริษัท ค. ใบหุ้นเลขที่ 060650100001031 จำนวน 5,000,000 หุ้น และเลขที่ 0605010000132 จำนวน 10,000,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 6 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวงเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)157/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท บ. จำเลย - บริษัท ม. กับพวก

ชื่อองค์คณะ วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นางสาวสิริน เหมนาค ศาลอุทธรณ์ - นายวรพจน์ วิไลชนม์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th