คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 427, 432, 1167 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ม. 50, 54 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ม. 17, 45 พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ม. 24, 39 (4), 39 (6)
ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" "สถานศึกษา" "เด็ก" แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 6,976,485 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเป็นสองเท่าของทุนทรัพย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 677,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามแต่ละคน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยในส่วนที่โจทก์ทั้งสามได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยทั้งสี่นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสัญชาติไทย เป็นบุตรโจทก์ที่ 3 เกิดกับนายคอสติกา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทนานาชาติ เปิดสอนชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ และมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2557 โจทก์ที่ 3 นำโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 ต่อมาในปีการศึกษา 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 3 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่โจทก์ที่ 3 เห็นว่าหนังสือดังกล่าวไม่มีรายละเอียดของเงินที่เรียกเก็บ โจทก์ที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงรายละเอียด นอกจากนี้ โจทก์ที่ 3 ยังได้ร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของจำเลยที่ 1 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลสถานศึกษาในเขตพื้นที่ จำเลยที่ 1 จึงเชิญให้โจทก์ที่ 3 ไปพบกับผู้บริหารโรงเรียนจำเลยที่ 1 เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง แต่โจทก์ที่ 3 ไม่ไปพบ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ส่งไปถึงโจทก์ที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงนามในฐานะกรรมการบริหารโรงเรียนจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ที่ 3 และสามีโจทก์ที่ 3 พิจารณาย้ายโรงเรียนให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 1 ได้มีประกาศเรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ประจำปีการศึกษา 2560 ถึง 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ประจำปีการศึกษา 2558 ถึง 2559 ปรากฏว่าอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บในชั้นเรียนต่าง ๆ สูงกว่าประจำปีการศึกษา 2558 ถึง 2559 ร้อยละ 14 ถึง 29 ต่อมาโจทก์ที่ 3 จึงให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนจำเลยที่ 1 และไปสมัครศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่น แล้วโจทก์ทั้งสามจึงมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ว่าร่วมกันกระทำละเมิดและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประเด็นแรกว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้…(4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ… มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ…พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 17 บัญญัติว่า ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ… มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเอกชนในด้านการศึกษา… พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ "สถานศึกษา" หมายความว่าสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ "เด็ก" หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ ขณะเดียวกันยังเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทนานาชาติ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 เปิดสอนชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วย จึงเป็น "สถานศึกษา" ตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนเอกชนหรือของรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องจัดการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีอำนาจในการกำกับดูแล การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ รวมทั้งการควบคุมการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นหากโรงเรียนในระบบแสวงหากำไรเกินควร ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 13 และมาตรา 33 นอกจากนี้ แม้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 จะยังมิได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียน คือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบจำนวนชั้นปีที่เด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงให้เห็นว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง จะให้เด็กออกกลางคันหรือดำเนินการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนเพื่อให้เด็กพ้นสภาพจากโรงเรียนที่เรียนอยู่โดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะเด็กไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการศึกษาภาคบังคับเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันก่อนที่เด็กจะมีวุฒิภาวะในการเลือกตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในภาคการศึกษาที่มิใช่ภาคบังคับหรือประกอบอาชีพตามความถนัดของตนเองต่อไปส่วนการบริหารจัดการการศึกษาประการอื่น นอกเหนือจากการกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนย่อมมีอำนาจดำเนินการให้บริการทางการศึกษาได้โดยอิสระภายในขอบเขตของกฎหมายและข้อสัญญาระหว่างบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กกับโรงเรียนเอกชนนั้น หาใช่กระทำได้ตามอำเภอใจดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาแต่อย่างใดไม่ สำหรับมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และ ที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าในปีการศึกษา 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 3 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่โจทก์ที่ 3 เห็นว่า หนังสือดังกล่าวไม่มีรายละเอียดของเงินที่เรียกเก็บ โจทก์ที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงรายละเอียดโดยมีการโต้ตอบระหว่างกัน เมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 มีนาคม 2560 โจทก์ที่ 3 จึงมีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตขอสำเนาประกาศ เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 เชิญให้โจทก์ที่ 3 ไปพบกับผู้บริหารโรงเรียน เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง แต่โจทก์ที่ 3 ไม่ไปพบ จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ส่งไปยังโจทก์ที่ 3 เห็นได้ชัดว่า ก่อนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการกระทำความผิดใด ๆ ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่เกิดจากการที่โจทก์ที่ 3 ต้องการทราบรายละเอียดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ที่เรียกเก็บ อันเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 3 ที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคท้าย เพราะมิฉะนั้นโจทก์ที่ 3 ย่อมไม่อาจทราบได้อย่างแจ้งชัดว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นครอบคลุมรายการใดบ้าง โดยเฉพาะกรณีที่อาจมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในระหว่างปีการศึกษา เมื่อพิจารณาข้อความในตอนต้นกล่าวถึงการที่จำเลยที่ 1 มีคำเชิญให้โจทก์ที่ 3 เข้าร่วมประชุมสำคัญที่โรงเรียน แต่โจทก์ที่ 3 ไม่มาและเนื้อความตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอให้โจทก์ที่ 3 พิจารณาย้ายโรงเรียนแก่บุตรโจทก์ที่ 3 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนไม่จำต้องแปลความแต่อย่างใดเลยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ศึกษาต่อที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 ต่อไปดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การออกหนังสือเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยมีความมุ่งหมายเพียงเพื่อกดดันให้โจทก์ที่ 3 เข้ามาเจรจาปรับความเข้าใจกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นมาตรการสุดท้ายที่มีความเหมาะสม มิได้ต้องการให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนนั้น ในวันดังกล่าว โจทก์ที่ 3 ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจำเลยที่ 4 ขอทราบสาเหตุว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดอย่างไรอันเป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียน ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 4 ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในนามคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโต้ตอบกลับมายังโจทก์ที่ 3 มีข้อความตอนหนึ่งว่า "…การให้นักเรียนสิ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้น ไม่ได้มาจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือผลการเรียนของตัวนักเรียนแต่อย่างใด ในทางกลับกันนักเรียนทั้งสองคนนี้นั้นเป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียนและทางโรงเรียนก็มีความยินดีที่จะออกหนังสือรับรองผลการเรียนของนักเรียนทั้งสองในช่วงที่ศึกษาที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ปกครอง…" ข้อความดังกล่าวนี้ยิ่งเป็นการย้ำชัดให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่มีความประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ทั้งที่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาอีกว่าโรงเรียนจำเลยที่ 1 ยังมีที่ว่างในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 10 อย่างละ 1 ที่ สำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 1 เนื่องจากทางโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ปกครองนักเรียนในวันที่ 17 และวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ตามลำดับว่า เด็กนักเรียนในความปกครองไม่อาจมาเรียนได้ พร้อมคำแปล นั้น เห็นว่า เมื่อมีการประกาศรายชื่อนักเรียนประจำปีการศึกษา 2560 พร้อมคำแปลปรากฏว่าในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 10 ซึ่งมีนักเรียนห้องเรียนละ 24 คน อย่างละ 2 ห้อง ไม่มีชื่อของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์ที่ 3 จะไม่รีบเร่งขวนขวายหาที่เรียนให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใหม่ เพราะโรงเรียนจะเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 การที่ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อมีการประกาศรายชื่อนักเรียน และจำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพจากการเป็นนักเรียนของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียน ซึ่งตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 ข้อ 27 กำหนดเหตุที่จะจำหน่ายนักเรียนเพียง 4 กรณี คือ 1.เมื่อจบหลักสูตร 2.เมื่อลาออก 3.เมื่อตาย และ 4.เมื่อขาดเรียนเกิน 1 ปีการศึกษาขึ้นไป กรณีดังกล่าวจึงเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจ ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย อันมีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกจากโรงเรียนกลางคันเสียมิได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษา จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน อยู่ในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียน กับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับกระทำผิดต่อหน้าที่เสียเอง จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432 ฎีกาอื่นของจำเลยทั้งสี่ในประเด็นพิพาทข้อนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประเด็นสุดท้ายมีว่าจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเพียงใด สำหรับค่าเสียหายในส่วนค่าเล่าเรียน อันเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งโจทก์ที่ 3 ชำระให้แก่โรงเรียนแห่งใหม่ นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียน น. ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบที่จังหวัดภูเก็ตเช่นกัน โจทก์ที่ 3 ต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในส่วนของโจทก์ที่ 1 รวม 3 ภาคเรียน เป็นเงินปีละ 198,937.50 บาท และโจทก์ที่ 2 รวม 3 ภาคเรียน เป็นเงินปีละ 198,937.50 บาท หากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังคงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในชั้นปีเดียวกัน เป็นเงินปีละ 400,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นปกติอยู่แล้วและไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ส่วนการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ย้ายไปศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2561 ที่โรงเรียน ภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นความสมัครใจย้ายโรงเรียนของโจทก์ทั้งสามเอง เป็นความเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 3 รวมกันมาเป็นเงิน 677,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องเสียโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 นั้น รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของจำเลยที่ 1 แนบท้ายใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน ระบุเป็นการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ จำเลยที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านยอมรับว่า มาตรฐานของหลักสูตรจะใช้ข้อสอบที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บางชั้นปีต้องส่งข้อสอบกลับไปตรวจที่ประเทศอังกฤษ ดังนั้น นักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็จะมีโอกาสเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หากได้รับการตอบรับ แต่นักเรียนที่ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 หากไปศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย อาจมีปัญหาหากขาดความสันทัดจัดเจนในการใช้ภาษาไทย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กลางคันย่อมต้องเสียเวลาในการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาในหลักสูตรอื่นทำให้ขาดความต่อเนื่องทางการศึกษา และอาจเสียโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 200,000 บาท เหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี… และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี… และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระหนี้เสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ละคน อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ยกฟ้องในส่วนความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่ในชั้นอุทธรณ์ และระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)312/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - เด็กชาย จ. โดยนางสาว พ. ผู้แทนโดยชอบธรรม กับพวก จำเลย - บริษัท ฮ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นางสาวกมลชนก กฐินะสมิต ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายปิยะวรรณ สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา