สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288 (เดิม), 323

ผู้ร้องยื่นคำร้องให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 และประกาศขายทอดตลาดครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ซึ่งตามมาตรา 288 (เดิม) ให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอก่อนการขายทอดตลาด แต่มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ มีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ให้ยื่นคำร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่ที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แม้มาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 จะบัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความบัญญัติต่อไปว่า และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่เริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจนถึงที่สุดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 การยื่นคำร้องขัดทรัพย์นับแต่นั้นจึงต้องดำเนินการตามความในมาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยื่นคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก คดีนี้เมื่อมีการยึดที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างก่อนวันที่มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ใช้บังคับเช่นนี้ การที่จะให้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ ก็ไม่มีกฎหมายระบุให้เป็นเช่นนั้น กรณีถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกจึงเป็นการยื่นคำร้องขัดทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์คดีถึงที่สุด แล้วจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 63514 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง

โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 วันที่ 17 กันยายน 2545 ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 63514 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน วันที่ 7 มีนาคม 2546 ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าโดยมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สิน คือ ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รถยนต์และออกไปอยู่อาศัยที่อื่น วันที่ 8 สิงหาคม 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แล้ว วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 4 นัด โดยนัดที่ 1 ในวันที่ 31 มกราคม 2561 และวันที่ 24 มกราคม 2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไว้แล้ว อันเป็นการยึดทรัพย์สินก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 จะใช้บังคับในวันที่ 5 กันยายน 2560 ซึ่งแม้มาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความบัญญัติต่อไปว่า และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่เริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจนถึงที่สุดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 การยื่นคำร้องขัดทรัพย์นับแต่นั้นจึงต้องดำเนินการตามความในมาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยื่นคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก คดีนี้เมื่อมีการยึดที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างก่อนวันที่มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับเช่นนี้ การที่จะให้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันยึดทรัพย์สินนั้นโดยที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับจึงไม่อาจเป็นไปได้ และจะให้เริ่มนับเวลา 60 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ก็ไม่มีกฎหมายระบุให้เป็นเช่นนั้น กรณีจึงถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดครั้งแรก จึงเป็นการยื่นคำร้องขัดทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอและขณะเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ได้ความตามคำร้องขอว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้อยู่ใฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์ได้ ส่วนผู้ร้องจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ร้องนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ไม่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)381/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ล. จำเลย - นาย จ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ เจษฎาวิทย์ ไทยสยาม แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ อนันต์ เสนคุ้ม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงเชียงใหม่ - นายกรด จันทร์ประเสริฐ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายชัยวัฒน์ เตชะวิจิตรชัย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th