คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 8 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 16 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 5, 7, 9, 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
ผู้ร้องซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายยื่นคำร้องต่อหัวหน้ากองแรกรับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางเพื่อเข้าพบเยาวชนซึ่งถูกควบคุมตัว ณ กองแรกรับ หัวหน้ากองแรกรับจะอนุญาตหรือไม่เป็นเรื่องธุรการซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกองแรกรับ หากผู้ร้องไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ก็ชอบที่จะร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป หามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งหัวหน้ากองแรกรับอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าพบลูกความตามที่ต้องการไม่ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจะมีอำนาจสั่งได้เมื่อเยาวชนนั้นถูกฟ้องต่อศาลแล้ว
กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทเป็นหลักในการปกครอง ศาลจะมีอำนาจสั่งการใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายเฉพาะเรื่อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นทนายความ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้ากองแรกรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง เพื่อขอเข้าพบนายชูศักดิ์เยาวชนซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองแรกรับหัวหน้ากองแรกรับไม่อนุญาตให้พบอันเป็นการขัดต่อกฎหมายและความเป็นธรรม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้หัวหน้ากองแรกรับอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าพบกับลูกความโดยด่วน
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชน วินิจฉัยว่า พิจารณาข้อความในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มาตรา 7, 9, 13 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้วมาตรา 16 วรรค 3 แล้ว การที่ผู้ร้องในฐานะที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้ากองแรกรับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางนั้น เป็นงานธุรการซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการปฏิบัติราชการของกองแรกรับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง หากผู้ร้องไม่พอใจคำสั่งของหัวหน้ากองแรกรับอย่างไร ก็ชอบที่จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาชั้นสูงขึ้นไป คือ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง และอธิบดีศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ตามลำดับ ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งหัวหน้ากองแรกรับอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าพบลูกความตามที่ต้องการเพราะไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งไม่มีกฎหมายให้ศาลเข้าไปมีอำนาจเช่นว่านั้น แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 8 จะบัญญัติว่านับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้วจำเลยมีสิทธิพูดจากับทนายหรือผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ถ้าจำเลยมีทนายทนายย่อมมีสิทธิทำนองเดียวกับจำเลย แต่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 5 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับแก่กรณีเกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชนเท่าที่ไม่แย้งหรือขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ดังนั้น ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจะมีอำนาจสั่งในปัญหาตามคำร้องของผู้ร้องได้ก็ต่อเมื่อเยาวชนนั้นถูกฟ้องต่อศาลแล้ว
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ศาลจึงมีอำนาจที่จะมีคำสั่งอย่างใด ๆ ให้เกิดความยุติธรรมและเป็นไปตามกฎหมายได้นั้น เห็นว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทเป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ศาลจะมีอำนาจสั่งการใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องนี้คือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ. 2494 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้อำนาจศาลที่จะสั่งเรื่องราวตามคำร้องของผู้ร้องได้
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นายชำนาญ พิเชษฐ์พันธ์
ชื่อองค์คณะ ชลูตม์ สวัสดิทัต พูน จักรเสน ศักดิ์ สนองชาติ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan