คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6400/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 193/12, 203, 341, 474, 856, 1037, 1077 (2), 1087 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177, 225
อุทธรณ์ของโจทก์มีใจความว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,889,967.75 บาท แล้ว จึงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนวนนี้จริงจะนำข้อต่อสู้เรื่องอายุความมาตัดทอนจำนวนหนี้ที่รับกันหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นหักค่าผ้าเป็นเงิน 198,864.80 บาท ออกจากจำนวนหนี้ที่รับฟังเป็นยุติแล้ว จึงคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายและการซื้อขายผ้าตามฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ชำระเป็นเงินสดแสดงว่าเป็นการซื้อขายระบบสินเชื่อมีระยะเวลา 90 วัน ตามที่โจทก์นำสืบ เช่นนี้ถือได้ว่า โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความ เกี่ยวกับสินค้าที่โจทก์ได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว การซื้อขายผ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระราคาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับผ้า โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาผ้านับแต่วันส่งมอบผ้า โจทก์ส่งผ้าตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 30 เมษายน 2530 ค่าผ้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 รวม 2 รายการเป็นเงิน 198,864.80 บาท จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในยอดหนี้จำนวนดังกล่าว การหักกลบลบหนี้เป็นเรื่องบุคคลสองฝ่ายต่างมีความผูกพันเป็นหนี้กัน และหนี้ซึ่งผูกพันกันอยู่อันจะเกิดการหักกลบลบหนี้กันได้นี้ต้องเป็นหนี้สองรายหรือต่างรายกัน แต่ความรับผิดของจำเลยที่จะต้องชำระราคาผ้ากับความรับผิดของโจทก์ใน การรับคืนผ้าที่ขายเพราะเหตุชำรุดบกพร่องนี้เกิดจากสัญญาซื้อขายผ้ารายเดียวกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน ดังนั้น การหักราคาผ้าที่โจทก์รับคืนเพราะเหตุชำรุดบกพร่องออกจากราคาผ้าที่โจทก์ขายไป จึงไม่ใช่ เรื่องหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 นับตั้งแต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำการค้าระหว่างกันจนกระทั่งฟ้องร้องคดีนี้ไม่เคยมีการหักทอนบัญชีแต่อย่างใดเนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตัวเลขแสดงว่ามิได้มีการตกลงกำหนดเวลาให้มีการหักทอนบัญชีในกิจการค้าระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสาระสำคัญข้อหนึ่งเกี่ยวกับสัญญา บัญชีเดินสะพัด แม้กฎหมายจะไม่บังคับว่าการจดแจ้งทางบัญชี จะต้องทำอย่างไรและจะต้องถูกต้องตามหลักการทำบัญชีก็ตาม แต่พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ปฏิบัติต่อกันดังที่ นำสืบมานั้นเป็นเรื่องซื้อขายผ้ากันธรรมดา ถือไม่ได้ว่า กิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เข้าลักษณะเป็น สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 จำเลยทั้งสี่ฎีกาอ้างว่าผ้าที่โจทก์ต้องรับคืนตามฟ้องแย้ง ไม่ใช่ผ้าชำรุดบกพร่อง หากแต่เป็นผ้าที่ไม่อาจใช้งานของ จำเลยที่ 1 ได้ แต่นำไปใช้งานอย่างอื่นได้ กรณีไม่ใช่เป็น การเรียกเอาค่าสินค้าที่เกิดจากความชำรุดบกพร่อง ฟ้องแย้ง จึงไม่ขาดอายุความนั้น ข้ออ้างตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งที่ว่า ผ้าที่โจทก์ส่งแก่จำเลย ที่ 1 หากเกิดชำรุดบกพร่องโดยการทอก็ดี การฟอกย้อมก็ดี และหรือเหตุอื่นใดก็ดี เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจ ใช้ประโยชน์ตามมุ่งหมายแห่งสัญญา โจทก์ยอมรับคืน ซึ่งหมายความ ว่าหากผ้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มีลักษณะดังกล่าว ข้างต้น แม้จะสามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ก็ให้ถือว่า เป็นผ้าที่ชำรุดบกพร่องในการที่โจทก์จะต้องรับคืนจากจำเลย ที่ 1 นั่นเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ได้บัญญัติในเหตุที่ว่านี้ให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ พบเห็นความบกพร่อง เมื่อปรากฎว่าโจทก์ส่งผ้าให้แก่ จำเลยที่ 1 ปี 2528 จึงเชื่อว่าฝ่ายจำเลยย่อมจะพบเห็น ความชำรุดบกพร่องของผ้าดังกล่าวตั้งแต่ปีดังกล่าวแล้วการที่จำเลยทั้งสี่มาฟ้องแย้งโจทก์ในปี 2530 จึงเกิน 1 ปีนับแต่ที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องฟ้องแย้งจึงขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับห้าง จำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าผ้าทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งหมายถึงในฐานะที่ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดด้วย เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด เท่านั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 มาก่อน ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัด ความรับผิด แม้ต่อมาในขณะฟ้องจำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ เปลี่ยนแปลงเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จึงถือว่า จำเลยที่ 2 ยังเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดอยู่ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้าง จำเลยที่ 1 จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด เช่นกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะมิได้ซื้อผ้า จากโจทก์เป็นการส่วนตัวก็ตาม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ต้อง รับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัด จำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิด กับจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่เกินคำขอ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมทอผ้าชื่อสุภาพรรณการทอ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2528จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อผ้าลูกไม้ชนิดและขนาดต่าง ๆ จากโจทก์และยังคงค้างชำระอยู่อีก 380,739.15 บาท รวมยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสี่ยังคงค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,539,967.75 บาทในการสั่งซื้อผ้าลูกไม้ดังกล่าวฝ่ายจำเลยได้ขอเครดิตสินเชื่อจากโจทก์เป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากได้รับสินค้าแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระเงินตามข้อตกลง จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมค่าดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ผิดนัดชำระราคาสินค้าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 239,936.50 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น1,779,904.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,779,904.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,539,967.75 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งว่า ในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นั้น จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ร่วมกันหรือแทนกันกระทำการในฐานะส่วนตัวหรือกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสี่ไม่เคยขอเครดิตสินเชื่อจากโจทก์ ทั้งไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจะชำระราคาสินค้าภายใน 90 วัน นับแต่วันรับสินค้าจากโจทก์ หนี้ตามฟ้องจึงขาดอายุความเพราะโจทก์กล่าวอ้างเป็นเรื่องซื้อขายและนับแต่วันที่จำเลยรับสินค้าไว้จากโจทก์จนโจทก์มาฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วความจริงมีว่าโจทก์ตกลงจะทอผ้าลูกไม้และผ้าชนิดต่าง ๆ ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อผลิตผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองถ้วยจาน และผ้าชุดรับประทานอาหารออกจำหน่าย โดยมีข้อตกลงว่าหากผ้าที่โจทก์จัดส่งแก่จำเลยที่ 1 ชำรุดบกพร่อง จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้ประโยชน์ตามความมุ่งหมายได้ต่อไปแล้ว โจทก์ยอมรับคืนและคิดราคาตามใบส่งสินค้าหรือหากผ้าที่ส่งมาเป็นพับชำรุดบกพร่องบางส่วนก็ยอมให้จำเลยที่ 1 ตัดเฉพาะส่วนชำรุดบกพร่องนั้นส่งคืนโจทก์ โจทก์ยอมคืนเงินให้ในราคาถัวเฉลี่ยกิโลกรัมละ 259 บาท ในการทำธุรกิจของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ขาดทุนหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยและจัดซื้อวัตถุดิบในการทอผ้าลูกไม้จำเลยที่ 1จึงตกลงให้โจทก์เบิกเงินทดรองจัดซื้อวัตถุดิบและเป็นค่าใช้จ่ายไปจากจำเลยที่ 1 ก่อน แล้วส่งผ้าลูกไม้มาหักทอนบัญชีกันภายหลังโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีบัญชีเดินสะพัดต่อกัน โจทก์ไม่เบิกเงินทดรองค่าซื้อวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 33 ครั้งเป็นเงิน 4,728,398 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1มีสิทธินำมาคิดหักทอนบัญชีและหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามฟ้อง และนับตั้งแต่ติดต่อกับโจทก์จนถึงวันฟ้อง โจทก์ได้รับคืนผ้าที่ชำรุดบกพร่องชนิดต่าง ๆ หลายครั้ง รวมราคาคิดตามใบสั่งของมีมูลค่า 1,969,327.73 บาท นอกจากนี้ยังมีผ้าที่จำเลยที่ 1 ตัดออกในแต่ละพับผ้าและจะต้องคืนโจทก์อีกจำนวน 502 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นเงิน 130,018 บาท แต่โจทก์ไม่รับคืน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจดแจ้งลงบัญชีและคิดหักทอนบัญชีกับโจทก์ได้ โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและยังไม่ได้หักทอนบัญชีต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้อันเป็นหนี้ส่วนหนึ่งของบัญชีเดินสะพัด จึงถือได้ว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินที่โจทก์ได้เบิกทดรองไปจากจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายค่าผ้าชำรุดบกพร่องที่โจทก์รับคืนไปแล้ว และค่าผ้าชำรุดที่โจทก์จะต้องรับคืนอีก รวมเป็นเงิน 6,827,743.73 บาท ซึ่งหนี้จำนวนดังกล่าวนี้จำเลยทั้งสี่ขอหักทอนบัญชีหรือหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามฟ้อง และเมื่อหักทอนบัญชีหรือหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์คงเป็นหนี้จำเลยทั้งสี่อีก 4,937,775.98 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 4,937,775.98 บาท แก่จำเลยทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยมีบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อผ้าลูกไม้และผ้าชนิดต่าง ๆจากโจทก์ เมื่อโจทก์ขาดเงินหมุนเวียน โจทก์จะนำเช็คไปขายลดให้จำเลยที่ 2 รายการรับเงินจำนวน 350,000 บาท ตามเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 1 รายการที่ 33 เป็นเงินส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าผ้าตามที่บรรยายในคำฟ้องจำเลยทั้งสี่จะนำไปหักหนี้อีกหาได้ไม่ โจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินจากจำเลยหลายครั้งแต่เป็นการชำระหนี้ค่าผ้ารายการเก่าซึ่งสิ้นสุดกันไปแล้วส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการกู้เงินจากจำเลยโดยวิธีขายลดเช็ค ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระให้เรียบร้อยแล้วจะนำเงินจำนวน 4,728,398 บาท มาเรียกร้องหรือหักทอนเอากับโจทก์ไม่ได้ สำหรับฟ้องแย้งในส่วนที่ว่าโจทก์ได้รับคืนผ้าคิดเป็นเงิน1,969,327.73 บาท และตั้งสิทธิเรียกร้องเอากับโจทก์นั้นขาดอายุความ โจทก์เคยรับคืนผ้าจริง แต่ได้มีการแก้ไขและส่งกลับไปให้จำเลยพร้อมกับคิดเงินกันเสร็จสิ้นไปแล้ว จะนำมาหักทอนกับราคาสินค้าส่วนที่โจทก์ฟ้องหาได้ไม่ ส่วนเรื่องคืนผ้าชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 130,018 บาท และขาดอายุความ ส่วนเงินจำนวน6,827,743.73 บาท ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องเอากับโจทก์และเมื่อหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามฟ้องแล้ว จำเลยทั้งสี่ยังคงเป็นเจ้าหนี้โจทก์อีก 4,937,775.98 บาท นั้น หมายถึงเงินจำนวน 6,827,743.73 บาท ลบด้วยเงินจำนวน 4,937,775.98 บาท ได้เงินคงเหลือเท่ากับ 1,889,967.75 บาท ซึ่งยอดเงินจำนวนนี้คือยอดเงินที่จำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำให้การและฟ้องแย้งว่าเป็นหนี้โจทก์และถึงกำหนดแล้ว แต่โจทก์ขอยอมรับชำระหนี้เท่าที่ฟ้องคือจำนวน 1,539,967.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีกจำนวน 239,936.50 บาท รวมเป็นเงิน 1,779,904.40 บาท โจทก์และจำเลยไม่มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน209,935.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นตามคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความเกี่ยวกับหนี้การซื้อขายผ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 เมษายน2528 จำนวนเงิน 198,864.80 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ค่าผ้าที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วหรือไม่เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.1 มีใจความว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,889,967.75 บาทแล้ว จึงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนวนนี้จริงจะนำข้อต่อสู้เรื่องอายุความมาตัดทอนจำนวนหนี้ที่รับกันหาได้ไม่ที่ศาลชั้นต้นหักค่าผ้าตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเงิน198,864.80 บาท ออกจากจำนวนหนี้ที่รับฟังเป็นยุติแล้ว จึงคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายและการซื้อขายผ้าตามฟ้อง จำเลยที่ 1ก็ไม่ได้ชำระเป็นเงินสด แสดงว่าเป็นการซื้อขายระบบสินเชื่อมีระยะเวลา 90 วัน ตามที่โจทก์นำสืบ ถือได้ว่า โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความเกี่ยวกับสินค้าที่โจทก์ได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.5 แล้ว ซึ่งปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ในปัญหานี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการซื้อขายผ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระราคาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับผ้าดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาผ้านับแต่วันส่งมอบผ้าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ส่งผ้าตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 30 เมษายน 2530 ค่าผ้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528รวม 2 รายการ เป็นเงิน 198,864.80 บาท จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม)
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปมีว่าผ้าชำรุดบกพร่องที่จำเลยส่งคืนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,131,167.40 บาท เป็นผ้าที่มีการซื้อขายตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าผ้าชำรุดบกพร่องตามเอกสารหมาย ล.3ถึง ล.8 ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏตามรายการรับคืนสินค้าเอกสารหมาย ล.16 อันดับที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นผ้าที่มีการซื้อขายและรับคืนก่อนคดีนี้และเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้ จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้กันหนี้ตามฟ้อง นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผ้าชำรุดบกพร่องที่จำเลยที่ 1 ส่งคืนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 เป็นผ้าที่มีการซื้อขายกันตามฟ้องและเมื่อโจทก์ได้รับคืนผ้าดังกล่าวไปแล้วเช่นนี้ จำเลยที่ 1ก็ไม่ต้องรับผิดชำระราคาผ้าส่วนนี้แก่โจทก์ จึงต้องหักราคาผ้าส่วนนี้ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,131,167.40 บาท ออกจากราคาผ้าที่ซื้อขายกัน และศาลฎีกาเห็นว่า การหักกลบลบหนี้เป็นเรื่องบุคคลสองฝ่ายต่างมีความผูกพันเป็นหนี้กัน และหนี้ซึ่งผูกพันกันอยู่อันจะเกิดการหักกลบลบหนี้กันได้นี้ต้องเป็นหนี้สองรายหรือต่างรายกัน แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระราคาผ้ากับความรับผิดของโจทก์ในการรับคืนผ้าที่ขายเพราะเหตุชำรุดบกพร่องนี้ เกิดจากสัญญาซื้อขายผ้ารายเดียวกันซึ่งต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน ดังนั้นการหักราคาผ้าที่โจทก์รับคืนเพราะเหตุชำรุดบกพร่องออกจากราคาผ้าที่โจทก์ขายไปจึงไม่ใช่เรื่องหักกลบลบหนี้
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการแรกมีว่าการซื้อขายผ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏจากการนำสืบของฝ่ายจำเลยว่านับตั้งแต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำการค้าระหว่างกันจนกระทั่งฟ้องร้องคดีนี้ไม่เคยมีการหักทอนบัญชีเนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตัวเลข อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่ามิได้มีการตกลงกำหนดเวลาให้มีการหักทอนบัญชีในกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสาระสำคัญข้อหนึ่งเกี่ยวกับสัญญาบัญชีเดินสะพัด ดังนั้น แม้กฎหมายจะไม่บังคับว่าการจดแจ้งทางบัญชีจะต้องทำอย่างไรและจะต้องถูกต้องตามหลักการทำบัญชีดังที่จำเลยทั้งสี่อ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ปฏิบัติต่อกันดังที่นำสืบมานั้นเป็นเรื่องซื้อขายผ้ากันธรรมดา ถือไม่ได้ว่ากิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเข้าลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่าหนี้ตามเอกสารหมาย ล.15 รวม 33 รายการ เป็นเงิน 4,728,398 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายทดรองให้แก่โจทก์เพื่อนำไปผลิตสินค้าผ้าขายหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เอกสารหมาย ล.15 แล้ว ปรากฏว่าในรายการสุดท้ายอันดับที่ 33 ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2528จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท ซึ่งตรงกับที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่าเป็นรายการชำระหนี้ค่าผ้าบางส่วนและเมื่อดูรายการอันดับที่ 25 และ 26 ในเอกสารดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้จ่ายเงินทดรองให้แก่โจทก์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวม 2 รายการ เป็นเงิน 350,000 บาท ก็มีเหตุสงสัยว่าเพราะเหตุใดวันเวลาและจำนวนเงินจึงตรงกับยอดเงินและวันที่สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.31 แผ่นที่ 2 และ 3 ที่โจทก์นำไปขายลดกับจำเลยที่ 2 วันเวลาและจำนวนเงินตามรายการอันดับที่ 28 ก็ตรงกับยอดเงินและวันที่สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.29นอกจากนี้ยอดเงินที่เหลือจากการขายลดเช็ค หลังจากมีการหักดอกเบี้ยออกแล้วตามเอกสารหมาย จ.35 และ จ.37 ก็ตรงกับยอดเงินในเอกสารหมาย ล.15 รายการอันดับที่ 29 และ 32 ตามลำดับ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.15 เป็นเอกสารที่ทางจำเลยทำขึ้นเองฝ่ายเดียวนอกจากนี้นางสาวกรองกาญจน์ก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีการเอาเช็คมาขายลดกันจริงซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยที่ 1 ตามรายการในเอกสารหมาย ล.15จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,728,398 บาท ไปหักกลบจากยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่าโจทก์ได้รับคืนผ้าตามรายการอันดับที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมายล.16 ซึ่งคิดเป็นเงิน 838,160.30 บาท แล้วหรือไม่นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับคืนผ้าตามรายการอันดับที่ 1และที่ 2 ในเอกสารหมาย ล.16 ซึ่งคิดเป็นเงิน 838,060.30 บาทแล้วก็จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากหนี้ค่าผ้าตามฟ้องไม่ได้
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่าผ้าที่โจทก์ไม่ยอมรับคืนจำนวน 502 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นเงิน 130,018 บาท ที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสี่ฎีกาอ้างว่าผ้าที่โจทก์ต้องรับคืนตามฟ้องแย้ง ไม่ใช่ผ้าชำรุดบกพร่อง หากแต่เป็นผ้าที่ไม่อาจใช้งานของจำเลยที่ 1 ได้ แต่นำไปใช้งานอย่างอื่นได้กรณีไม่ใช่เป็นการเรียกเอาค่าสินค้าที่เกิดจากความชำรุดบกพร่องฟ้องแย้งจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ข้ออ้างตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งที่ว่า ผ้าที่โจทก์ส่งแก่จำเลยที่ 1 หากเกิดชำรุดบกพร่องโดยการทอก็ดี การฟอกย้อมก็ดีและหรือเหตุอื่นใดก็ดี เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้ประโยชน์ตามมุ่งหมายแห่งสัญญา โจทก์ยอมรับคืนซึ่งหมายความว่าหากผ้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น แม้จะสามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ก็ให้ถือว่าเป็นผ้าที่ชำรุดบกพร่องในการที่โจทก์จะต้องรับคืนจากจำเลยที่ 1 นั้นเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ได้บัญญัติในเหตุที่ว่านี้ให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความบกพร่อง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ส่งผ้าให้แก่จำเลยที่ 1 ปี 2528 เชื่อว่าฝ่ายจำเลยย่อมจะพบเห็นความชำรุดบกพร่องของผ้าดังกล่าวตั้งแต่ปีดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มาฟ้องแย้งโจทก์ในปี 2530 จึงเกิน 1 ปีนับแต่ที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง ฟ้องแย้งจึงขาดอายุความตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกรณีมิใช่เรื่องหักกลบลบหนี้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงนำค่าผ้าส่วนนี้ไปหักออกจากหนี้ค่าผ้าตามฟ้องไม่ได้
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายมีว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องความว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ตามระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้สั่งซื้อผ้าจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาผ้าพร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่าเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับห้างจำเลยที่ 1ในหนี้ค่าผ้าทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งหมายถึงในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เคยเป็นห้างหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 มาก่อน ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด แม้ต่อมาในขณะฟ้องจำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้เปลี่ยนแปลงเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ยังเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดอยู่ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเช่นกัน ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะมิได้ซื้อผ้าจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก็ตาม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077(2) ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เกินคำขอแต่อย่างใด
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายปกรณ์ วรกิตติวณิช จำเลย - ห้างหุ้นส่วนจำกัดกวงไท่เชียง กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุชาติ ถาวรวงษ์ สุทธิ นิชโรจน์ สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan