คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 646/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84
แม้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 จะออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม แต่ก็มิใช่กฎหมายที่ศาลจะรู้เองได้ ถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จึงต้องรับฟังตามที่ปรากฏในฟ้องและคำรับสารภาพ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องจึงชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางเพื่อไว้ใช้ในราชการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 23 (ที่ถูก มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 ฐานมีและค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวกันและมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐษนค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง (ที่ถูก ริบเพื่อไว้ใช้ในราชการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาข้อ 2.2 ที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา จึงไม่รับฎีกาในส่วนนี้ สำหรับฎีกาในส่วนที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายข้อ 2.1 นั้น เห็นว่า เป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคแรก ประกอบมาตรา 225 อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 2.1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งแม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ 2.1 ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดไม่ครบถ้วนและขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจออกฎกระทรวงกำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมบางลักษณะ หรือเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการบางประเภทได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งทั้งหมด หรือเฉพาะแต่บางกรณีได้" องค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัตินี้คือ การทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนั้น ความผิดฐานมีหรือค้าเครื่องมือวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 จำเลยมีและค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมหลายประเภทรวม 35 รายการ จำนวนทั้งสิ้น 260 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมใช้ในการส่งและรับเครื่องหมายสัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียง หรือการอื่นใดซึ่งสามารถให้เข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแฮรตเซียน มีความถี่วิทยุส่งและรับระหว่าง 824 ถึง 2500 เมกะเฮิรตซ์ กำลังส่งสูงสุดที่ตรวจสอบได้ 3 วัตต์ อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมาย โดยจำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวไว้ครอบครองเพื่อขายให้แก่ลูกค้าของจำเลยอันเป็นการมีและค้าซึ่งวิทยุคมนาคมโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 เช่นนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าในข้อหาได้ดีแล้วว่า จำเลยมีและค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องแจกแจงให้ชัดเจนว่า เครื่องวิทยุคมนาคมของกลางแบบใดชนิดใดมีความถี่เท่าไร เครื่องใดมีกำลังส่งสูงสุดที่ตรวจสอบได้ 3 วัตต์ และเครื่องใดมีกำลังวัตต์ต่ำกว่า เพราะตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้กำหนดความถี่และวัตต์ของเครื่องวิทยุคมนาคมไว้แตกต่างกันนั้น เห็นว่า ที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 หากจำเลยปฏิเสธ โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางเป็นแบบใดชนิดใดมีความถี่เท่าไร เครื่องใดมีกำลังส่งสูงสุดที่ตรวจสอบได้ 3 วัตต์ และเครื่องใดมีกำลังวัตต์ต่ำกว่าตามที่จำเลยอ้าง แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้รอการลงโทษโดยอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบว่าการขายเครื่องวิทยุคมนาคมเป็นความผิดและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเท่านั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยลดโทษให้จำเลยคงจำคุก 9 เดือน แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดและจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดีจึงรับสารภาพและอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยมีและค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมตามฟ้องได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ดังกล่าวจะออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (4) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และมาตรา 27 (24) (25) และมาตรา 81 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบมาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม ก็มิใช่เป็นกฎหมายที่ศาลจะรับรู้ได้เอง ถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จึงต้องรับฟังตามที่ปรากฏในคำฟ้องและคำรับสารภาพว่า จำเลยมีและค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมหลายประเภท 35 รายการ รวม 260 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมใช้ในการส่งและรับเครื่องหมายสัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียง หรือการอื่นใดซึ่งสามารถให้เข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแฮรตเซียน มีความถี่วิทยุส่งและรับช่วงระหว่าง 824 ถึง 2500 เมกะเฮิรตซ์ กำลังส่งสูงสุดที่ตรวจสอบได้ 3 วัตต์ อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมาย โดยจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายให้แก่ลูกค้าอันเป็นการมีและค้าซึ่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อถือได้ว่าฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ดังวินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องและศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2681/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย ป.
ชื่อองค์คณะ อดิศักดิ์ ปัตรวลี กิตติพงษ์ ศิริโรจน์ ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายวัฒนพล ไชยมณี ศาลอุทธรณ์ - นายสิทธิชัย ลีลาโสภิต