คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2564
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ม. 25
การจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่ให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบสี่นั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องในข้อ 1 (ก) (ข) และ (ค) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 7, 25 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 63, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5, 7, 25 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันซ่อนเร้นคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 25 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกหลายคนร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยข้อ 1 (ก) จำเลยกับพวกร่วมกระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการของคณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดฐานนำหรือพาคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฐานให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไป อันเป็นความผิดร้ายแรงที่กระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ เพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลยกับพวกรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมและรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และจำเลยกับพวกร่วมกันลงมือกระทำความผิดร้ายแรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ข้อ 1 (ข) จำเลยกับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าว เชื้อชาติและสัญชาติเมียนมา รวม 14 คน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และข้อ 1 (ค) จำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ ด้วยการให้เข้าพักอาศัยหลบซ่อนในบ้านพักและนำคนต่างด้าวทั้งสิบสี่ไปโดยสารหลบซ่อนอยู่ในรถยนต์ของกลาง แล้วขับพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่ไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบสี่นั้นพ้นจากการจับกุม ซึ่งการจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่ให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบสี่นั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องในข้อ 1 (ก) (ข) และ (ค) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดฐานนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ตามมาตรา 25 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง คงจำคุก 3 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2242/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดลำปาง จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ อนันต์ วงษ์ประภารัตน์ อุดม วัตตธรรม พิชัยวัฒน์ อุตะเดช
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดลำปาง - นางศิริพร พวงสำลี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางพยางคศิริ วิทยาผาสุข