คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2559
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3, 17, 92, 94, 102 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ม. 64
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดบัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน" ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่บัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ทั้ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในภาค 1 อันรวมถึง มาตรา 102 ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาปรับแก่คดีนี้ด้วย ดังนี้ ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจึงเป็นความผิดลหุโทษ เมื่อ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติว่า "ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้" ซึ่งหมายความว่า ความผิดลหุโทษไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดอีกตาม ป.อ. มาตรา 92 เมื่อ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 94 มาปรับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 17 ด้วยเช่นกัน กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตาม ป.อ. มาตรา 92 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 (ที่ถูก 42 วรรคหนึ่ง), 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี และปรับ 700,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จำคุก 20 วัน เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 18 ปี และปรับ 1,050,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จำคุก 30 วัน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน รวมจำคุกจำเลย 18 ปี 15 วัน และปรับ 1,050,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 26 วัน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 วัน เมื่อรวมกับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุก 18 ปี 13 วัน และปรับ 1,050,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102 ที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิด บัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน" ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่บัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในภาค 1 อันรวมถึงมาตรา 102 ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102 ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาปรับแก่คดีนี้ด้วย ดังนี้ ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จึงเป็นความผิดลหุโทษ เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 บัญญัติว่า "ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้" ซึ่งหมายความว่า ความผิดลหุโทษไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เมื่อพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 มาปรับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ด้วยเช่นกัน ดังนี้ กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 วัน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว คงจำคุก 18 ปี 10 วัน และปรับ 1,050,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2221/2559
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก จำเลย - นายคณินหรือเอิร์ด อิ่มเอี่ยมหรืออิ่มเอื่อม
ชื่อองค์คณะ ปกรณ์ มหรรณพ วิวรรต นิ่มละมัย นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดพิษณุโลก - นายมนู มนูสุข ศาลอุทธรณ์ - นายอนุรุท บุญประดิษฐ์