คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 569, 1336
แม้เดิมอ. จะเป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทลงบนที่ดินพิพาทของตนเองโดยชอบก็ตามแต่ต่อมาอ. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่1กรณีจึงเป็นเรื่องตึกแถวพิพาทของจำเลยที่1ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่1โดยยอมให้จำเลยที่1มีสิทธิเป็นเจ้าของตึกพิพาทซึ่งได้ก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวมาแต่เดิมแต่อย่างใดดังนั้นหากต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ตึกแถวพิพาทตั้งอยู่บนที่ดินของโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปแล้วแต่จำเลยที่1เพิกเฉยย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้โจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ที่จะขอให้บังคับจำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้ เดิมจำเลยที่2ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับอ. ต่อมาอ. ทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่1เมื่ออ.ถึงแก่กรรมตึกแถวพิพาทตกเป็นของจำเลยที่1ซึ่งรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทของจำเลยที่2มาจากอ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา569วรรคสองการอยู่ในตึกแถวพิพาทของจำเลยที่2จึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเมื่อสัญญาเช่าหมดอายุแล้วและโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้บอกกล่าวให้จำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่2ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วแต่จำเลยที่2เพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิดถือได้ว่าจำเลยที่2มีฐานะเป็นบริวารของจำเลยที่1โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่2ออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกับจำเลยที่1ได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 35592 ซึ่งมีตึกแถวเลขที่ 195/6-9 ของจำเลยที่ 1ปลูกอยู่ จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวของจำเลยที่ 1ซึ่งครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1รื้อถอนตึกแถวออกจากที่ดินของโจทก์และบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2ออกจากที่ดินของโจทก์ด้วย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 2ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเดือนละ 50,000บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของนางอุไร ชื่นมนัส ซึ่งเป็นมารดาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อมานางอุไรยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ และทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตสามารถหาผลประโยชน์จากตึกแถวพิพาทได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้รื้อถอนตึกแถวพิพาท โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทซึ่งผู้ให้เช่ายังไม่ได้บอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่ใช่ผู้ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตึกแถวพิพาทหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าเพียงเดือนละ280 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวเลขที่ 195/6-9ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 35592 ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 20,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนตึกแถวออกจากที่ดินของโจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินและตึกแถวพิพาทบนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนางอุไร ชื่นมนัสมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 นางอุไรได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 5 ปี สัญญาเช่าสิ้นสุดวันที่ 1 สิงหาคม 2534เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2530 นางอุไรยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 นางอุไรได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นางอุไรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2534 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกจากที่ดินของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่านางอุไรเป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทลงบนที่ดินพิพาทของตนเองโดยชอบ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ปลูกสร้าง หากแต่ได้รับมรดกตึกแถวพิพาทมาจากนางอุไร การบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อตึกแถวพิพาทออกไปจะมีผลเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้เดิมนางอุไรจะเป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทลงบนที่ดินพิพาทของตนเองโดยชอบก็ตามแต่ต่อมานางอุไรก็ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามลำดับ กรณีจึงเป็นเรื่องตึกแถวพิพาทของจำเลยที่ 1 ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 โดยยอมให้จำเลยที่ 1มีสิทธิเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทซึ่งได้ก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวมาแต่เดิมแต่อย่างใด ดังนั้น หากต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ตึกแถวพิพาทตั้งอยู่บนที่ดินของโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2ออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2ได้หรือไม่นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทโดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิด มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์หรือมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์หรือไม่อย่างไร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิมจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับนางอุไร ต่อมานางอุไรทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อนางอุไรถึงแก่กรรม ตึกแถวพิพาทย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทของจำเลยที่ 2 มาจากนางอุไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 569 วรรคสอง การอยู่ในตึกแถวพิพาทของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าว หากต่อมาสัญญาเช่าดังกล่าวหมดอายุแล้วและโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวพิพาทและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายกับจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 20,000 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 2และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย วัลลภ ชื่นมนัส จำเลย - พันเอก สมพงษ์ ชื่นมนัส กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุชาติ ถาวรวงษ์ สุทธิ นิชโรจน์ สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan