คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 128/1, 130 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 160
การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของนางสาว ร. กับนาย ท. หรือนาย อ. ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่นาย ท. หรือนาย อ. ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องทั้งสอง ให้ใช้ชื่อสกุล ให้การศึกษาและแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของตน ต่อมานาย ท. หรือนาย อ. ถึงแก่ความตาย ขณะมีชีวิตอยู่นาย ท. หรือนาย อ. เป็นข้าราชการ เมื่อถึงแก่ความตายจึงมีบำเหน็จตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องทั้งสองติดต่อขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากต้นสังกัดของนาย ท. หรือนาย อ. แต่มีเหตุขัดข้องเนื่องจากผู้ร้องทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. หรือนาย อ. ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. หรือนาย อ.
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. มีบุตรร่วมกัน 1 คน ประมาณต้นปี 2551 นาย ท. ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อเนื่องตลอดมา ระหว่างการรักษาตัวนาย ท. ไม่อาจร่วมประเวณีได้ ร่างกายนาย ท. ไม่สามารถผลิตเชื้ออสุจิได้ส่งผลให้เป็นหมันไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ จึงมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้เป็นบุตรของนาย ท. ขณะนาย ท. ยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ร. ไม่เคยจดทะเบียนว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของนาย ท. และศาลไม่มีคำพิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของนาย ท. กับนางสาว ร. ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เด็กหญิง ศ. ผู้ร้องที่ 1 และเด็กชาย ช. ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. หรือนาย อ. บิดาผู้วายชนม์ และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เยาว์ เห็นควรตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบึงกาฬ กำกับการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดที่ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับเพื่ออุปการะเลี้ยงดูและเป็นทุนการศึกษาของผู้เยาว์ต่อไปในอนาคต
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นาย อ. สมรสด้วยการจดทะเบียนกับผู้คัดค้าน ระหว่างสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชาย ย. ต่อมานางสาว ร. คลอดผู้ร้องที่ 1 และคลอดผู้ร้องที่ 2 ต่อมานาย อ. เปลี่ยนชื่อเป็นนาย ท. นาย ท. ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งตับ ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ขอให้ตรวจลายพิมพ์ดี เอ็น เอ ระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับนาย ข. บิดาของนาย ท. ว่าจะสามารถตรวจพิสูจน์ความเป็นพ่อลูกระหว่างผู้เยาว์ทั้งสองกับนาย ท. ผ่านนาย ข. ได้หรือไม่ ต่อมาภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสารพันธุกรรมว่า ผู้ร้องที่ 1 กับนาย ข. มีผลแสดงความสัมพันธ์แบบปู่ - หลาน ด้วยความเชื่อมั่นร้อยละ 92.23032 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับนาย ข. มีผลแสดงความสัมพันธ์แบบปู่ - หลาน ด้วยความเชื่อมั่นร้อยละ 92.11276
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. หรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาคัดค้านการรับฟังผลการตรวจดีเอ็นเอ โดยอ้างว่าผลการตรวจดี เอ็น เอ ไม่อาจนำมารับฟังได้เพราะเป็นเพียงความเห็นไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบ อีกทั้งมิได้ตรวจพิสูจน์จากตัวนาย ท. กับผู้ร้องทั้งสอง นาย ข. มีบุตร 10 คน ผู้ร้องทั้งสองอาจมิใช่บุตรของนาย ท. นั้น เห็นว่า การตรวจพิสูจน์ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 128/1 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งผลการตรวจดี เอ็น เอ มาศาลโดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ จึงสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจดี เอ็น เอประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ แม้มิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 ส่วนข้อที่อ้างว่า การพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตร นั้น เนื่องจากในการตรวจพิสูจน์ดี เอ็น เอ ในคดีนี้ ผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้วไม่อาจอยู่ในวิสัยจะทำการตรวจได้ การใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจากนาย ข. บิดาของผู้ตายแล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ ข้ออ้างตามฎีกาของผู้คัดค้านในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านอ้างว่าเอกสารสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างส่งศาลเป็นเอกสารที่ผู้ร้องทำขึ้นฝ่ายเดียวและมิได้นำพยานบุคคลมาเบิกความสนับสนุนว่า มีการจัดทำเอกสารขึ้นอย่างใด นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองส่งสำเนาเอกสารต่างๆ ให้ผู้คัดค้านล่วงหน้าตามกฎหมายแล้ว หากผู้คัดค้านเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบจะคัดค้านเอกสารนั้นได้ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 เมื่อผู้คัดค้านมิได้กระทำจึงไม่อาจหยิบยกเรื่องความไม่ชอบของเอกสารขึ้นอ้างได้ อีกทั้งพฤติการณ์ในการต่อสู้คดีของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านได้อ้างเอกสารในลักษณะเดียวกับที่ผู้ร้องทั้งสองกระทำ ไม่ว่าการอ้างสำเนาสูติบัตรของเด็กชาย ย. หรือการอ้างสำเนาใบทะเบียนสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับนาย อ. หรือนาย ท. ข้ออ้างว่าไม่ควรรับฟังเอกสารดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ ปัญหาต่อไปมีว่าทางนำสืบของผู้ร้องทั้งสองรับฟังได้หรือไม่ ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของนาย ท. เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองมีนางสาว ร. มารดา เบิกความว่า นางสาว ร. คบหากับนาย ท. ตั้งแต่ปี 2548 ในปี 2548 ได้มีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน และในปี 2551 ได้อยู่กันฉันสามีภริยากัน ช่วงที่นาย ท. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ผู้ร้องทั้งสองมีนาย ป. เบิกความว่า รู้จักกับนาย ท. เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันเมื่อปี 2547 นาย ท. เล่าให้ฟังว่าคบหาฉันคนรักกับนักเรียนชื่อ ร. ต่อมานาย ท. ไปเช่าบ้านเช่าอยู่กับนางสาว ร. นาย ป. ได้ไปหานาย ท. ได้พบนางสาว ร. ต่อมานางสาว ร. คลอดผู้ร้องที่ 2 นาย ท. ขอให้นาย ป. นำชื่อผู้ร้องที่ 2 เข้าในทะเบียนบ้านของนาย ป. ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้าน นาย ท. เป็นผู้แจ้งเกิดผู้ร้องทั้งสองเอง ปรากฏตามสำเนาสูติบัตร ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า นาย ท. พาผู้ร้องทั้งสองไปเที่ยวปรากฏตามภาพถ่าย ช่วงนาย ท. ป่วยต้องรักษาตัว ผู้ร้องทั้งสองก็ไปเฝ้า ปรากฏตามสำเนาภาพถ่าย พฤติการณ์ที่นาย ท. แสดงออก เป็นการยอมรับผู้ร้องทั้งสองว่าเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับนาย ข. บิดาของนาย ท. ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามทางนำสืบของผู้ร้องทั้งสองว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของนาย ท. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยชพ.17/2559
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - เด็กหญิง ศ. โดยนางสาว ร.ผู้แทนโดยชอบธรรม กับพวก ผู้คัดค้าน - นาง ม.
ชื่อองค์คณะ นพพร โพธิรังสิยากร พิศล พิรุณ วีรา ไวยหงส์ รินทร์ศรี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ - นางสาวสุธินี อารีเจริญเลิศ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายสาธิต สุทธิสัตยารักษ์