คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383
ประกาศของธนาคารโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อที่ออกโดยอาศัยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดมีข้อความระบุชัดว่า ธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24ต่อปี สำหรับลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในส่วนที่เกินวงเงินหรือเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวหรือในกรณีที่ลูกหนี้ประพฤติผิดสัญญากู้เงินแล้วต่อมามีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นร้อยละ 25 ต่อปี แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 หรือร้อยละ 25 ต่อปี เฉพาะกรณีที่เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือกรณีที่ลูกหนี้ประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญากู้เงินหาใช่เป็นเรื่องโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือลดลงตามภาวะเศรษฐกิจตามที่ระบุในสัญญากู้เงินไม่ ข้อกำหนดที่ให้โจทก์เรียกเอาดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 24 หรือร้อยละ 25 ต่อปีเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากู้เงินย่อมเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่ที่ศาลชั้นต้นลดจากร้อยละ 25 ต่อปีลงเหลือร้อยละ 19 ต่อปีเท่ากับอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงไม่ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดโจทก์มอบอำนาจให้นายสง่า เจียรรัตนสวัสดิ์ เป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน480,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีและยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกหนี้จำเลยตกลงจะผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 6,600 บาท มีกำหนด 180 เดือน จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34323 ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นจนครบจำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์แล้วบิดพลิ้วไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 752,797.79 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 752,797.79 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปีจากเงินต้น 480,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำนองเป็นประกัน และยึดทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้จนครบจำนวน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 702,009.86บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากเงินต้น 480,000บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34323 ตำบลแม่คำอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบจำนวน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยมีข้อกำหนดในสัญญาให้โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า เป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 15มิถุนายน 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 480,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 6,600 บาท มีกำหนด 180 เดือนและมีบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินว่า จำเลยยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือลดลงได้บวกด้วยร้อยละสอง โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34323ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ มีบันทึกข้อตกลงว่า ถ้าโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบจำนวน หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย ในระยะแรกโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ต่อมาระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2540 ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2540ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2541 ปรับเป็นร้อยละ 24 ต่อปี และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 ปรับเป็นร้อยละ 25 ต่อปี โจทก์คิดคำนวณแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 752,797.79 บาท เบี้ยปรับคือเงินจำนวนหนึ่งที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ดังนั้น การพิจารณาว่า เงินที่เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในสัญญาว่า มีข้อความระบุให้เจ้าหนี้เรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้เพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหรือไม่ หากข้อความในสัญญาระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งได้จากลูกหนี้เพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เงินจำนวนนั้นย่อมเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383ในข้อนี้แม้สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 และสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 จะมีข้อความว่า จำเลยยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตามแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่ตามประกาศของธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อลงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 และฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2541 เอกสารหมาย จ.15 ที่ออกโดยอาศัยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ฉบับที่ 4) มีข้อความระบุชัดว่าธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี สำหรับลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในส่วนที่เกินวงเงิน หรือเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวหรือในกรณีที่ลูกหนี้ประพฤติผิดสัญญากู้เงินโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2541 แล้วต่อมามีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นร้อยละ 25 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2541เป็นต้นไปแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24หรือร้อยละ 25 ต่อปี เฉพาะกรณีที่เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญากู้เงิน หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือลดลงตามภาวะเศรษฐกิจตามที่ระบุในสัญญากู้เงินไม่ ดังนั้น ข้อกำหนดในสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินกับประกาศของธนาคารโจทก์ที่ให้โจทก์เรียกเอาดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 24 หรือร้อยละ 25 ต่อปี เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากู้เงินย่อมมีผลเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนศาลอาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ25 ต่อปีเป็นเบี้ยปรับ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 25 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 19 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่ว่าโจทก์ควรได้รับเบี้ยปรับเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสมแก่ทางได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรงอีกทั้งการพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาปัญหาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 และมาตรา 248 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดเบี้ยปรับเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)(2)ประกอบมาตรา 247"
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยดังกล่าว นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร แหลมทอง จำกัด (มหาชน จำเลย - นาย เฉลิมชนม์ อำพรไพ
ชื่อองค์คณะ กำพล ภู่สุดแสวง วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ สุรชาติ บุญศิริพันธ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan